ปีงบ 64 "กองทุนบัตรทอง"เบิกจ่ายค่าคัดกรอง-รักษาโควิด"แล้ว 467 ล้านบาท

08 ม.ค. 2564 | 16:52 น.

สปสช.เผย 3 เดือนแรกปีงบ64 "กองทุนบัตรทอง" เบิกจ่ายค่าคัดกรอง-รักษาโรคโควิด-19แล้วกว่า 467 ล้านบาท

 

วันนี้ ( 8 มกราคม ) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 นับเป็นมหันตภัยด้านสาธารณสุขร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักต่อภาวะวิกฤตสาธารณสุขดังกล่าวโดยมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโดยสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการประชาชนกรณีโควิด-19

 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ สปสช. จัดสรรงบประมาณพร้อมเพื่อรองรับการบริการกรณีโควิด-19 เช่นกัน เบื้องต้นในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 ที่เป็นช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าถึงบริการกรณีโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากข้อมูลการเบิกค่าบริการกรณีโควิด-19 ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 ธันวาคม 2563 จ่ายชดเชยจำนวน 467.86 ล้านบาท ตามบริการ ดังนี้

 

 

ปีงบ 64 \"กองทุนบัตรทอง\"เบิกจ่ายค่าคัดกรอง-รักษาโควิด\"แล้ว 467 ล้านบาท

 

1.บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 155,856 คน คิดเป็น 186,980 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 319.39 ล้านบาท

 

2.บริการรักษาพยาบาล ทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมเป็น 4,887 คน (แยกเป็นการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 53 คน, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) 4,421 คน และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 425 คน) คิดเป็น 4,993 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 148.46 ล้านบาท

 

สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้ในการเบิกจ่ายช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 ตามรายการนี้ เบื้องต้นเป็นการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกรณีโควิด-19 ที่ยกมาจากปีงบประมาณ 2563 เพื่อจัดสรรดูแลประชาชนกรณีโควิด-19 ต่อเนื่องในช่วงระหว่างดำเนินการจัดสรรงบเพิ่มเติมตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในระยะ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 64) ต่อไป 

 

ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

 

 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ขณะที่ยอดการเบิกจ่ายค่าบริการ โควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 (เมษายน-กันยายน 2563) นั้น แบ่งเป็นบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 589,996 คน คิดเป็น 817,935 ครั้ง และบริการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมเป็น 33,951 คน (ในจำนวนนี้มีทั้ง ผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19) ซึ่งรวมทั้ง 2 บริการเป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 2,830.66 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ สปสช.ได้มีการจัดสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เพื่อรองรับ ทั้งการคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์กรมควบคุมโรคทุกคนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการคัดกรองเพื่อตรวจยืนยันได้ที่โรงพยาบาลในระบบบัตรทอง โดย สปสช. จะจ่ายชดเชยเหมาจ่ายไม่เกินครั้งละ 1,600 บาท เหมาจ่ายเพิ่มเติมครั้งละ 600 บาท บริการเก็บตัวอย่างเหมาจ่ายครั้งละ 100 บาท บริการผู้ป่วยในที่ครอบคลุมค่าชุด PPE ชุดละ 740 บาท ห้องควบคุมโรควันละ 2,500 บาท ห้องพักผู้ป่วย-สถานที่กักกันโรค วันละ 1,500 บาท ค่ายารักษารายละ 7,200 บาท (หรือชดเชยเป็นยา) ค่ารักษากรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย จ่ายตามระยะทาง และค่าทำความสะอาดรวมชุด PPE ครั้งละ 3,700 บาท      

 

 นอกจากงบประมาณเฉพาะที่เป็นการจัดสรรเพื่อเบิกจ่ายในกรณีโควิด-19 แล้ว ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ สปสช. ในการดำเนินงานกิจกรรมโครงการที่มุ่งป้องกันและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดย อปท. สามารถนำงบจากกองทุนนี้มาใช้เพื่อร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ได้ ซึ่งปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามี อปท. 394 แห่ง ที่ร่วมจัดทำโครงการป้องกันโควิด-19 เป็นจำนวน 817 โครงการแล้ว

 

พร้อมนี้ สปสช. ยังได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือแจ้ง อปท. ที่ร่วมจัดตั้ง กปท. นำกลไก กปท. มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่