เนสท์เล่ไทย สานพันธกิจ Net Zero

28 ธ.ค. 2563 | 19:39 น.

ในฐานะบริษัทที่ร่วมลงนามในปฏิญาณ ‘Business Ambition for 1.5°C’ ของสหประชาชาติ "พอล บุลเก้" ประธานกรรมการ เนสท์เล่ ได้ประกาศแผนการดำเนินงานและกรอบเวลา เพื่อเดินสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 โดยแผนการดำเนินงาน พุ่งเป้า 3 เรื่องหลัก คือ 1. การสนับสนุนเกษตรกรและซัพพลายเออร์ ให้สามารถทำการเกษตรแบบฟื้นฟู ตลอดจนปลูกต้นไม้หลายร้อยล้านต้นภายในอีก 10 ปีข้างหน้า 2. ปรับองค์กรไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ภายในปี 2568 และ 3. การเพิ่มจำนวนแบรนด์ในเครือที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ให้มากขึ้น

เนสท์เล่ประเทศไทย ขานรับนโยบายของบริษัทแม่ โดยล่าสุด ใช้งบประมาณ 1,530 ล้านบาท สร้างโรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 ซึ่ง "วิคเตอร์ เซียห์" ประานคณะบริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของเนสท์เล่ระดับโลก ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% รวมถึงลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2568 พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593
เนสท์เล่ไทย สานพันธกิจ Net Zero

"ไชยงค์ สกุลบริรักษ์" ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า โรงงานแห่งใหม่ ที่มีทั้งการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตและใช้หลอดกระดาษ รวมถึงเป้าหมายการลดใช้พลาสติกใหม่เหลือ 1 ใน 3 และการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ 100% เพื่อพุ่งเป้าสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ทุกอย่างที่ดำเนินการ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ รสชาติและคุณภาพของสินค้าต้องเป็นที่พึ่งพอใจของผู้บริโภค

เนสท์เล่ไทย สานพันธกิจ Net Zero

เนสท์เล่ได้เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษกับกล่องยูเอชทีตั้งแต่กลางปี 2563 และจะเปลี่ยน 100% ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2564 รวมไปถึงมีการพิจารณาและศึกต่อไปอีกว่า จะสามารถเปลี่ยนพลาสติกที่หุ้มหลอดเป็นกระดาษด้วยได้หรือไม่ แน่นอนว่าการลงทุนสิ่งใหม่ๆ นี้ ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มข้น แต่เนสท์เล่สามารถลดต้นทุนในส่วนอื่นๆ พร้อมทั้งซัพซิไดร์ภาระต้นทุนทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบ

เนสท์เล่ไทย สานพันธกิจ Net Zero

เนสท์เล่ไทย สานพันธกิจ Net Zero

นอกจากนี้ เนสท์เล่ไทย กำลังทดลองเรื่องบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมหรือนำมาใช้ใหม่ได้ (Refillable or reusable packaging) โดยกำลังเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับการรีฟิล เช่น อาหารเช้าซีเรียล หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ พร้อมกันนี้ ในส่วนของโรงงาน หรือส่วนต่อขยายของแวร์เฮ้าส์ จะนำโซล่ารูฟเข้ามาใช้เพิ่มเติม
 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,638 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563