ทำความรู้จักกับ "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท"

15 ธ.ค. 2563 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2563 | 19:37 น.
692

ทำความรู้จักกับ "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อาการป่วยของ "ตูนบอดี้สแลม"

จากกรณีที่นักร้องดัง “ตูนบอดี้สแลม” หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯเนื่องจาก โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้นิ้วมือข้างซ้ายมีอาการอ่อนแรง และมีอาการชาบริเวณมือ 

 

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับ "โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท" เพื่อเราได้รู้จักกับป้องก้นความเสี่ยงจากโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้ เป็นโรคหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เริ่มมีอายุตั้ง 40 ปีขึ้นไป หรือในบางรายอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 35 ปี ทั้งนี้ การเกิดโรคนี้จะเป็นอยู่ 2 จุดหลักๆ คือ บริเวณคอ และบริเวณหลัง ซึ่งอาการและสาเหตุของทั้ง 2  จุดนั้นจะแตกต่างกันไป โดยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ หมอนรองกระดูกเสื่อมมาทับบริเวณเส้นประสาทซึ่งส่วนใหญ่จะพบในคนที่อายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป

 

แต่ปัจจุบันพบโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น ในหนุ่มสาววัยทำงาน จากพฤติกรรมเสี่ยงการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ  นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จักอาการป่วย "ตูนบอดี้สแลม"และใครมีโอกาสเป็นหมอรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

"ตูนบอดี้สแลม"ป่วยอาการกระดูกคอกดทับเส้นประสาท 

 

รวมถึงกลุ่มสังคมก้มหน้าที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่กับการดูและเล่นมือถือ รวมถึงการได้อุบัติเหตุบางอย่าง เช่น อุบัติเหตุจากรถชนทางด้านหลังอย่างแรง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและเนื้อเยื่อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมได้

 

รวมถึงเมื่ออายุมากขึ้นมีการงอกของกระดูกคอ และอาจมากดทับบริเวณรากประสาทได้ ทำให้มีอาการปวดคอ คอแข็ง และปวดร้าวลงมาที่มือ หรือปวดบ่า ปวดไหล่ และปวดร้าวลงมาที่แขน ในบางรายอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หมอนรองกระดูกยื่นออกมากดทับประสาทไขสันหลังจนทำให้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ชาตามแขนขาได้

 

ดังนั้น หากมีอาการปวดคอ คอแข็ง ปวดร้าวลงมาที่มือ หรือปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดร้าวลงมาที่แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่ง จนรู้สึกชา ไม่มีแรง ขยับตัวลำบาก เหล่านี้ล้วนเป็นอาการบ่งชี้ หรือ สัญญาณประการหนึ่งของ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” และหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานอาจทำให้การรักษาด้วยยา หรือกายภาพบำบัดไม่ได้ผลที่ดีนัก และจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดช่วยในการรักษาแทน

 

วิธีป้องกันโรคหมอนกระดูกคอทับเส้นประสาท

 

วิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหมอนกระดูกคอทับเส้นประสาท  คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขยับร่างกาย ไม่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป แนะนำให้ นั่ง 1 ชั่วโมง แล้วลุกยืน 1 นาที และปรับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เก้าอี้ต้องมีพนักพิง ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องระมัดระวังในการออกกำลังกาย หรือ การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.พญาไท และ รพ.ยันฮี