เช็คก่อนกิน “อาหารเสริมผสมเมลาโทนิน” อันตราย

24 ส.ค. 2563 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2563 | 19:24 น.
721

อย. ย้ำ “อาหารเสริมผสมเมลาโทนิน” ผิดกฎหมาย ใช้ระยะยาวเสี่ยงอันตราย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  เปิดเผยว่า ตามที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบุสรรพคุณอ้างว่ามีส่วนช่วยในการนอนหลับนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่อนุญาตเมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่หากได้รับติดต่อกันในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่ายกายได้

พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์

ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเมลาโทนินส่วนมากมีวัตถุประสงค์การจำหน่ายเพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่จัดเป็น “อาหาร” ตามนิยามที่กำหนดในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินเป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือต้องควบคุมโดยการสั่งหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฮลั่น อย.ผ่อนปรนให้นำเข้าตามค่าโคเด็กซ์ ถึง มิ.ย.64

เตือน! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 7 Fit สวมเลข อย. อ้างสรรพคุณลดความอ้วน

ทั้งนี้ เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่นในรอบวัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของช่วงฤดูกาล จึงนิยมนำมาใช้เพื่อรักษาความผิดปกติจากการนอนหลับ ขณะที่ข้อมูลงานวิจัยพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อใช้เมลาโทนินสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนได้ แต่ในกลุ่มเด็กพบว่าการได้รับเมลาโทนินมีแนวโน้มให้เกิดความไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจกระทบกับฮอร์โมนอื่นๆ และอาจรบกวนพัฒนาการของร่างกายในช่วงที่เป็นวัยรุ่น นอกจากนี้ เมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยากันชัก (Anticonvulsants) ยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

 

“ขอเตือนผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรพิจารณาถึงความปลอดภัยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผสมเมลาโทนิน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าหากบริโภคติดต่อกันระยะยาวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอนตอนกลางวัน ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ มวนท้อง หงุดหงิด มึนงง ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น ทั้งนี้ เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกตินอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเสี่ยงซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ที่โฆษณาอวดอ้างช่วยให้นอนหลับมารับประทานเอง”