ซีเอฟโอกังวลหนัก เร่งบริหารต้นทุน ประคองธุรกิจ

03 เม.ย. 2563 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2563 | 08:43 น.

PwC ชี้ภาคธุรกิจเร่งบริหารต้นทุน-ปกป้องความปลอดภัยของพนักงาน หวังประคองธุรกิจอยู่รอดผ่านสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบุมีเพียง 16% เลิกจ้างพนักงาน

PwC เผยผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอและผู้บริหารฝ่ายการเงินสหรัฐฯ และเม็กซิโก พบ 87% ห่วงไวรัสโควิด-19 กระทบการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำรายได้และกำไรปีนี้หด ชี้องค์กรต่างๆ เร่งงัดมาตรการทางการเงินออกมาใช้ทั้งบริหารต้นทุน ชะลอแผนการลงทุน และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะที่ผลสำรวจฉบับอาณาเขตต่าง ๆพบ เกือบ 1 ใน 3 ของซีเอฟโอมีแผนเลิกจ้างพนักงาน ด้าน PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจไทยประคับประคองธุรกิจบริหารสภาพคล่อง และดูแลพนักงานเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตไปพร้อม ๆ กับองค์กร

 

PwC จัดทำผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ครั้งที่ 2 โดยทำการสำรวจความคิดเห็นและมุมมองของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO) รวมทั้งผู้บริหารทางการเงินอื่น ๆ เกี่ยวกับความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) 

 

ทั้งนี้ PwC ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้นำทางการเงินในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกจำนวน 55 รายระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่า ซีเอฟโอมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเด็นนี้ โดย 87% ของซีเอฟโอมีความกังวลมากว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขา ขณะที่ 80% คาดว่า ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้รายได้หรือกำไรปีนี้ลดลง ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 33 และ 22 จุดตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผลจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อสัปดาห์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

 

องค์กรต่าง ๆ กำลังเร่งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ โดย 85% ของซีเอฟโอระบุว่า ตนได้มีการดำเนินการทางการเงินอันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นใช้มาตรการควบคุมต้นทุน (67%) และชะลอหรือยกเลิกแผนการลงทุน (58%) ออกไปก่อน นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์ด้านอื่น ๆ เช่น ทบทวนค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพื่อสินทรัพย์ทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบุคลากร

 

นอกจากนี้ ซีเอฟโอมากกว่าครึ่ง หรือราว 56% ยังคาดว่า จะเห็นมาตรการเยียวยาและผลประโยชน์ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานมากขึ้น เพราะในขณะที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้ดำเนินการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวอเมริกันชดเชยกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และช่วยประคับประคองไม่ให้ธุรกิจล่มบริษัทต่าง ๆ ก็มีปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ของพนักงานและประเมินทางเลือกอื่น ๆ อย่างแข็งขัน เช่น ระงับการจ้างงานเพิ่ม ลดสัปดาห์การทำงาน พิจารณาลดเงินค่าจ้าง และอื่น ๆ

  “ผู้นำธุรกิจเข้าใจว่า เป้าหมายขององค์กรก่อนเกิดวิกฤติไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะในเวลานี้ความสำคัญอันดับที่ 1 ของพวกเขาคือ การนำพาองค์กรและพนักงานให้ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้างไปให้ได้” นาย ทิม ไรอัน ประธานและหุ้นส่วนอาวุโส PwC สหรัฐอเมริกา กล่าว

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ มีเพียง 16% ของซีเอฟโอที่ทำการสำรวจเท่านั้น ที่พิจารณาแผนการเลิกจ้างในเดือนเมษายน ในทางตรงกันข้าม พวกเขามุ่งเน้นไปที่การปกป้องสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ พนักงานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ซึ่งนี่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับคืนมาโดยเร็ว

 

แม้ว่า 84% ของผู้บริหารทางการเงินจะมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ (76%) ยังเชื่อมั่นว่า ธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงภายในวันนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง 14 จุดจากผลสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

 

“บริษัทจำนวนมากกำลังต่อสู้กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้ และถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นของซีเอฟโอต่อความสามารถในการพลิกฟื้นธุรกิจให้ได้ภายในไม่กี่เดือนจะลดลงเรื่อย ๆ ก็ตาม” นางสาว เอมิที มิลไฮเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้า ของ PwC กล่าว 

 

ความสามารถในการชำระหนี้ ยังคงเป็นความกังวลอันดับต้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และเราคาดว่าจะได้เห็นการออกมาตรการทางการเงินที่สำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความสามารถยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจในสัปดาห์ข้างหน้า

 

สำหรับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อกลยุทธ์การควบรวมและซื้อกิจการนั้น ยังคงมีความไม่ชัดเจนในขณะนี้โดยผู้บริหารทางการเงินส่วนใหญ่ ยังคงประเมินสถานการณ์ หรือยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนการดังกล่าว อย่างไรก็ดี13% ของซีเอฟโอระบุว่า ยังคงมองหาโอกาสในการควบรวมและซื้อกิจการมากขึ้น

 

“หลังจากผ่านสภาวะช็อกในช่วงแรกมาได้ ผู้บริหารมองถึงอนาคตและเห็นว่า ยังมีบางธุรกิจหรือสินทรัพย์บางประเภทที่มีพื้นฐานที่ดี และมีราคาน่าสนใจมากในตอนนี้ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า” นาย นีล ดาร์ หัวหน้าสายงานบริการทาง การเงิน ของ PwC สหรัฐอเมริกา กล่าว “การขอสินเชื่อน่าจะยังคงดำเนินต่อไปบนพื้นฐานราคาและส่วนต่างของราคาซื้อและขายที่เหมาะสม ก่อนที่เราจะเห็นเครื่องยนต์ของการควบรวมและซื้อกิจการเร่งตัวขึ้นอย่างเต็มที่ แต่ด้วยสภาวะตลาดในปัจจุบัน เราคาดว่าจะเห็นการลดราคาแบบกระหน่ำเป็นจำนวนไม่มากนักในอนาคตใกล้”  

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจซีเอฟโอและผู้บริหารทางการเงินจำนวน 55 คน พบว่า 80% ของผู้ถูกสำรวจมาจากบริษัทชั้นนำในทำเนียบฟอร์จูน 1000 และอีกส่วนหนึ่งมาจากองค์กรด้านสุขภาพที่ไม่แสวงหากำไร หรือ จากบริษัทเอกชนนอกจากนี้ ผู้ถูกสำรวจ 45 คนมาจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่อีก 10 คนที่เหลือมาจากเม็กซิโก 

 

ผลสำรวจ PwC COVID-19 CFO Pulse Survey ถูกจัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ครั้งต่อเดือนเพื่อติดตามความคิดเห็นและลำดับความสำคัญของผู้บริหารต่อผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งผลสำรวจครั้งแรกถูกจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม2563 คุณสามารถอ่านผลจากการสำรวจและมุมมองของ PwC ได้ที่ pwc.com/us/covid-19-survey

 

ด้าน นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของซีเอฟโอครั้งที่ 2 นี้PwC ยังได้จัดทำผลสำรวจฉบับอาณาเขตต่าง ๆ (Multi-territory findings) นอกเหนือไปจากสหรัฐฯ และเม็กซิโก ซึ่งได้ทำการสอบถามมุมมองความคิดเห็นของซีเอฟโออีก 153 รายใน 8 อาณาเขตและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ประกอบด้วย บาห์เรน เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส กาตาร์ สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ไทย โดยพบว่า82% ของซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้มีความกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ (เปรียบเทียบกับ 87% ของซีเอฟโอในสหรัฐฯ และเม็กซิโก) ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% คาดว่า มีแผนเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าสหรัฐฯ และเม็กซิโกถึงเท่าตัว

 

ในส่วนของความกังวลสูงสุด 3 อันดับแรกจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 นั้น ซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้มองว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นความกังวลอันดับแรก (67%) ตามมาด้วยอันดับที่ 2 ผลกระทบทางการเงิน ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในอนาคต สภาพคล่อง และแหล่งเงินทุน (61%) และอันดับที่ 3 ผลกระทบต่อกำลังแรงงานและการลดลงของประสิทธิภาพการผลิต (44%) แต่อย่างไรก็ดี ซีเอฟโอในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ (75%) มั่นใจว่า ธุรกิจของตนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 3 เดือน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงภายในวันนี้

 

“ธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ไม่แตกต่างจากธุรกิจทั่วโลก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากลำบากในการประคับประคองธุรกิจในสถานการณ์ที่ซัพพลายเชนตึงตัว ท่ามกลางกำลังซื้อที่ค่อย ๆ หดหาย ตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้นแต่ทุกองค์กรก็ทำงานอย่างดีที่สุดในการปรับกลยุทธ์ในทุก ๆ มิติเพื่อรับมือสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากในเวลานี้สำหรับธุรกิจไทยที่ยังคงตั้งหลักไม่ถูก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต สำรวจและประเมินสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และวางแผนบริหารจัดการต้นทุนทั้งในระยะสั้นถึงระยะกลาง และที่สำคัญที่สุด ดูแลพนักงานของตัวเองเพื่อให้พวกเขามั่นใจว่า พวกเขาจะได้รับการปกป้องและจะผ่านพ้นจากภาวะวิกฤติไปพร้อม ๆ กับองค์กร” นาย นิพันธ์ กล่าว