อาลัยศิลปินแห่งชาติ "สุเทพ วงศ์กำแหง"

27 ก.พ. 2563 | 08:22 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2563 | 16:45 น.
1.6 k

"สุเทพ วงศ์กำแหง" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ขับร้องเพลงไทยสากล ได้เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยวัย 86 ปี เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ

 

วันนี้ (27 ก.พ.63) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ขับร้องเพลงไทยสากล ได้เสียชีวิตแล้วภายใน บ้านเลขที่ 267 ซอยปรีดีพนมยงค์42 แยก 7 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โดยมี ตำรวจนครบาลคลองตัน พร้อมแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาฯและอาสามูลนิธิร่วมกตัญญูร่วมตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต

สำหรับ สุเทพ วงศ์กำแหง ปัจจุบันอายุ 86 ปี เป็นเจ้าของเพลงลูกกรุงไพเราะอมตะมากมาย อาทิ รักคุณเข้าแล้ว, เธออยู่ไหน, เย้ยฟ้าท้าดิน, ป่าลั่น, บทเรียนก่อนวิวาห์ และ เสน่หา ด้วยน้ำเสียงหวานนุ่มทำให้ได้รับสมญานามว่าเป็น “นักร้องเสียงขยี้แพรในฟองเบียร์” โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยตามวัย ซึ่งมีแฟนเพลงให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับ ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2477 ที่อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จังหวัดบ้านเกิด และด้วยความมีแววของการเป็นนักร้องเริ่มตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียน ยมักจะได้รับมอบหมายให้เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติที่โรงเรียนเสมอ ๆ 

ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้ว สุเทพ ก็ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติที่กรุงเทพมหานคร และด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้สมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่นั้นนอกจากจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้ว ยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียน ในยามว่างจึงมักจะฝึกซ้อมร้องเพลงเสมอตามแบบอย่างของนักร้องที่ชื่นชอบ เช่น วินัย จุลละบุษปะ, สถาพร มุกดาประกร, ปรีชา บุณยเกียรติ  

                                                                 อาลัยศิลปินแห่งชาติ \"สุเทพ วงศ์กำแหง\"

 

สุเทพ ได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับครูไศล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน เมื่อครูไศลมองเห็นแววความสามารถของ สุเทพ ก็คิดจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมจึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น ช่วยเขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ เสมอ ทำให้ สุเทพ เริ่มคุ้นเคยกับบุคคลในวงการเพลงมากหน้าหลายตา ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่าง ๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ 


จากการที่ร้องเพลงได้อย่างดีเด่น ทำให้ สุเทพ ได้ร้องเพลงบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเองบ้าง ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการร้องเพลงของ สุเทพ โดยช่วยส่งเสริมในทางต่าง ๆ ครั้น สุเทพ มีอายุครบกำหนดกฎเกณฑ์ทหาร พล.อ.อ.ทวี จึงได้ชักชวนให้เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งมี ครู ปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้น สุเทพ ได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้นอีก และสถานีวิทยุต่าง ๆ ก็ได้นำเพลงที่ร้องบันทึกแผ่นเสียงนี้ไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว 
 

 

ภายหลังจากออกจากกองทัพอากาศแล้ว สุเทพ ก็ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว ได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน และได้มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ ทำให้ชื่อเสียงเริ่มเพิ่มขึ้น งานต่าง ๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และยิ่งในช่วงนั้น วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฟื่องฟู สุเทพ จึงได้งานร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ร่วมแสดงภาพยนตร์บางเรื่อง 


สุเทพ ได้มีโอกาสร้องเพลงคู่กับนักร้องรุ่นพี่ท่านหนึ่งคือ สวลี ผกาพันธุ์ อยู่เสมอ ในเวลานั้น สวลี เป็นนักร้องยอดนิยมแห่งยุค ที่มีแฟนเพลงชื่นชอบมากมาย ดังนั้นเมื่อใครซื้อแผ่นเสียงของ สวลี ไป ก็มักจะมีเสียง สุเทพ ติดไปด้วย ชื่อเสียงของ สุเทพ จึงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น สุเทพ จึงถือว่าความสำเร็จในเบื้องต้นส่วนหนึ่ง ได้รับอานิสงส์มาจากการที่ได้ร้องเพลงคู่กับคุณสวลี ผกาพันธุ์ด้วย


สำหรับจุดเด่นของ สุเทพ คือการมีน้ำเสียงที่ดีเป็นเลิศ มีลีลาในการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนุ่มนวลชวนฟัง อารมณ์ที่แสดงออกมาทางน้ำเสียงและสีหน้านั้น สามารถสะกดใจผู้ฟังให้คล้อยตามและเข้าถึงอารมณ์ของเพลงได้อย่างพิเศษ ประกอบกับการเป็นผู้ที่เอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำงาน ทำให้เป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงภายในระยะเวลารวดเร็ว จนได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า "นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์" มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี


สุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประเภทขับร้องเพลงไทยสากล ปี 2533