ผวา "ไก่งวงเอฟเฟกต์" ส่งออก 4 หมื่นล้าน วูบ!!

21 ส.ค. 2561 | 18:32 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2561 | 01:32 น.
210861-1815

เอกชนผวาวิกฤติ! ส่งออกไทย-ตุรกี 4.2 หมื่นล้าน ส่อวูบ! กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใบประดิษฐ์ กระทบแน่! ลูกค้ายุโรปเริ่มขยับย้ายฐาน สั่งซื้อเสื้อผ้าจากตุรกีแล้ว

วิกฤติการเงินของตุรกี
 ที่เงินลีราได้อ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 45% เมื่อเทียบกับต้นปี ผลพวงจากการเผชิญหน้าทำสงครามการค้าของตุรกีตอบโต้สหรัฐฯ ส่งผลต่อภาระการชำระหนี้ต่างประเทศของตุรกีที่เพิ่มขึ้น กระทบตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก จนเกิดความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติการเงินลุกลามเป็นลูกโซ่ ขณะที่ ความเสี่ยงต่อการค้าไทย-ตุรกี มีแนวโน้มถดถอย

 

[caption id="attachment_307879" align="aligncenter" width="503"] ©PublicDomainPictures ©PublicDomainPictures[/caption]

จากการตรวจสอบการค้าระหว่างไทย-ตุรกี ปี 2560 มีมูลค่ารวม 51,060 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 42,472 ล้านบาท นำเข้า 8,588 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้าตุรกี 33,884 ล้านบาท ส่วนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 การค้า 2 ฝ่าย มีมูลค่ารวม 25,223 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 20,290 ล้านบาท ลดลง 5.3% นำเข้า 4,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.3% ไทยยังเกินดุลการค้าตุรกี 15,358 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จากการสอบถามกลุ่มสินค้าส่งออกใน 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ภาพรวมมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตุรกี ที่เกรงจะกระทบต่อการค้า 2 ฝ่าย ซึ่งอาจจะชะลอตัวลงในเดือนที่เหลือของปีนี้


GP-3393_180821_0012

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า สินค้ากลุ่มนี้ที่ไทยส่งออกไปตุรกีเป็นรถยนต์สำเร็จรูปหรือชิ้นส่วนประกอบมากกว่ากัน เบื้องต้น เข้าใจสินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปน่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะตุรกีมีโรงงานประกอบรถยนต์ของหลายค่าย ผลิตรถยนต์ได้ปีละกว่า 1 ล้านคัน และทำตลาดในประเทศเป็นหลัก

"ค่าเงินของตุรกีที่อ่อนค่าลงมากจะกระทบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแน่ เพราะราคาสินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งคงรวมถึงการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยด้วย ต้องจับตาว่า การนำเข้าของเขาช่วงจากนี้ไปจะลดลงมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี คาดเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่กระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยในภาพรวมที่ปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.1 ล้านคัน โดย 6 เดือนแรก ส่งออกได้แล้ว 5.6 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 4%"

 

[caption id="attachment_307880" align="aligncenter" width="503"] กนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท.[/caption]

ด้าน นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า เงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่าลงมากจะมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยของตุรกี ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ตุรกีมีการนำเข้าจากไทยจะชะลอตัวลงแน่นอน แต่คงกระทบภาพรวมไม่มาก เพราะไทยยังมีตลาดอื่น ๆ ที่สามารถชดเชยได้

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ตุรกีมีอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ครบวงจรประเทศหนึ่ง มีทั้งโรงปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม และผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้ากีฬาส่งไปยุโรป ที่ผ่านมา ตุรกีเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่มีการนำเข้าเส้นใยประดิษฐ์จากไทย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าส่งออก จากผลพวงค่าเงินของตุรกีที่ลดลงมาก คาดการนำเข้าเส้นใยฯ จากไทยจะลดลง เพราะต้นทุนนำเข้าจะสูงขึ้น

 

[caption id="attachment_307881" align="aligncenter" width="503"] ©Klaise ©Klaise[/caption]

"แต่ในอีกด้านหนึ่งจากเสื้อผ้าที่ผลิตในตุรกีต้นทุนจะสูงขึ้น จะส่งผลให้ลูกค้าจากยุโรปหรือตลาดอื่น ๆ ที่เคยนำเข้าสินค้าจากตุรกี หันไปสั่งซื้อจากที่อื่นที่ถูกกว่าแทน ซึ่งจากการสอบถามสมาชิกของสมาคมแจ้งว่า ขณะนี้ได้รับการติดต่อและเสนอราคาจากลูกค้าในยุโรปเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในส่วนเส้นใยประดิษฐ์อาจจะเป็นมุมลบ แต่การ์เมนต์อาจได้อานิสงส์"

ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากที่ไทยและตุรกีอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ไม่กระทบกับการเจรจาเอฟทีเอที่จะยังคงเดินหน้า สำหรับการเจรจาในรอบต่อไปจะมีขึ้นที่เมืองไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้ แม้ตุรกีจะไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มากสำหรับสินค้าไทย (สัดส่วน 0.5% ของการส่งออกไทย) แต่จากจุดที่ตั้งของตุรกีอยู่ตรงกลาง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และกลุ่มซีไอเอส ถือเป็นประตูการค้าที่สำคัญที่จะนำสินค้าไทยไปสู่ภูมิภาคดังกล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โกลเบล็กมองตัวเลข GDP-ส่งออกรถยนต์หนุนหุ้นไทยให้กรอบดัชนี1,665-1,720 จุด
อัญมณีมั่นใจส่งออกโต5% สงครามการค้ากระทบน้อย

เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7