เกษตรกร "โครงการหลวงแม่สะเรียง" คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการปลูกผักอินทรีย์

13 ม.ค. 2565 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 20:30 น.

สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด ยึดหลักการดำเนินงานสหกรณ์ปลูกผักอินทรีย์ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องต่อยอดมาจนถึงรัชกาลที่ 10  มีการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดเครื่องมือด้านการผลิตและแปรรูป   เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในสหกรณ์โครงการหลวง ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นและในปัจจุบันได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

เกษตรกร \"โครงการหลวงแม่สะเรียง\" คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการปลูกผักอินทรีย์

โดยมีแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้เป็นองค์กรของชุมชนและศูนย์กลางในการส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์กับมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตและการตลาด ตลอดถึงเงินทุนต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงนำไปดำเนินธุรกิจและรับซื้อผลผลิตการเกษตรของสมาชิก  

เกษตรกร \"โครงการหลวงแม่สะเรียง\" คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการปลูกผักอินทรีย์
 

และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดประกวดสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวงขึ้น  

โดยแบ่งเป็น สหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง จำนวน 3 รางวัล สมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงดีเด่น จำนวน 16 ราย ซึ่งสมาชิกสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวง ที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว จะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่เกียรติคุณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการขับเคลื่อนงานสหกรณ์ต่อไป

เกษตรกร \"โครงการหลวงแม่สะเรียง\" คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการปลูกผักอินทรีย์

“ในการจัดประกวดสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวงนั้น นอกจากจะเป็นขวัญและกำลังใจของเกษตรกรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการหลวง แล้วก็ยังเป็นการสนับสนุนการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในสหกรณ์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานสหกรณ์เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมฯ กำหนด พร้อมร่วมกันวางแผนการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่โครงการหลวงกำหนด พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการคิด การออกแบบ การผลิตการแปรรูปสินค้า และบรรจุภัณฑ์ของสหกรณ์  ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้โดดเด่นอย่างทันสมัย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

และในปี 2564 มีการคัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงดีเด่น จำนวน 16 ราย  หนึ่งในนั้นคือ

นายเอกรินทร์ ปอสอ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด บ้านป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  เผยว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาผลิตผักกับโครงการหลวง  และมีชาวบ้านหลายครอบครัวที่ผลิตผักให้กับโครงการหลวง ซึ่งที่บ้านป่าแป๋มีอยู่ 2 รูปแบบก็คือปลูกผักอินทรีย์ และปลูกผักระบบ GAP

เกษตรกร \"โครงการหลวงแม่สะเรียง\" คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการปลูกผักอินทรีย์

“เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่ มีงานก็มีเงิน ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน จึงเปลี่ยนใจกลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะมีพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ บวกกับได้เรียนเกษตรมาและมีใจรัก อยากจะขอบคุณสหกรณ์กับโครการหลวง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการทำการเกษตรในพื้นที่ตั้งแต่การสนับสนุนโรงเรือนเพาะปลูกปัจจัยการผลิตตั้งแต่ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ข้อมูลวิชาการที่ดีในการเพาะปลูก ทางโครงการหลวงมีนักวิชาการมาแนะนำ ผลผลิตออกมาทางสหกรณ์ทำการตลาดให้ผลผลิตเลยไม่ตกค้าง ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทุนก็เอามาจากสหกรณ์ก่อนแล้วจ่ายคืนทีหลัง” นายเอกรินทร์ ปอสอ กล่าว

 สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดีเด่นปี 64 เผยเพิ่มเติมด้วยว่า ตลอดมาทางกรมส่งเสริมสหกรณ์และโครงการหลวงได้ให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงในการเพาะปลูกตลอดเวลา คอยแนะนำวิธีการผลิตทำให้ผลผลิตออกมาดีตามที่ตลาดต้องการ  และได้เดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอยู่อย่างพอเพียง แม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่อดอยาก 

“ที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและครอบครัว ต่อตนเองก็คือไม่ทำอะไรที่เกินความสามารถของตนเอง ไม่ใช้จ่ายเกินตัวมีการวางแผนในการใช้ชีวิตและการดูแลครอบครัว ต่อสังคมต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง มีความรับผิดชอบในผลผลิตที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดผลิตผักอินทรีย์ก็ต้องเป็นอินทรีย์อย่างแท้จริง ดูแลทุกอย่างตามขั้นตอน”

นายเอกรินทร์ ย้ำว่า รายนี้ได้ทำการเกษตรในหลายรูปแบบมีปลูกไม้ให้ผลประมาณ 3 ไร่ มีแปลงผักในระบบโรงเรือนแบบอินทรีย์ 3 โรงเรือน แต่ละโรงเรือนยาว 30 ตารางเมตร กว้าง 6 เมตรโดยปลูกผักแบบสลับชนิดใน 3 ชนิดประกอบด้วย เบบี้ฮ่องเต้ ผักกาดฮ่องเต้ และโอ๊คเรดเขียว ผลผลิตส่งโครงการหลวงและสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ให้มีความกินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงในปัจจุบัน