รถไฟทางคู่‘ลพบุรี-ปากนํ้าโพ’ เพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง ร่นเวลาเดินทาง

27 ธ.ค. 2559 | 12:00 น.
รถไฟเส้นทางนี้จัดเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสนับสนุนโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอกรอบการพัฒนาดังกล่าวและยังได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เร่งดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางที่มีความถี่ของเดินรถไฟและต้องรอการสับหลีกเป็นระยะเวลานาน

ดังนั้นเพื่อให้มีการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ตามแผนการลงทุน และตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งทางรถไฟ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้รถไฟมีความตรงต่อเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งทางรถไฟให้มากยิ่งขึ้น ล่าสุดร.ฟ.ท.ได้ประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวแล้วโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2559 สิ้นสุดการซื้อเอกสารประกวดราคาในวันที่ 5 มกราคม 2560

รถไฟทางคู่เส้นทาง “ลพบุรี-ปากน้ำโพ” เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม มีทั้งแนวเขตทางกว้าง 60 เมตรและ 80 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 แนวเลี่ยงเมืองลพบุรี ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร (เขตทางกว้าง 60 เมตร)เริ่มต้นจากสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี เส้นทางรถไฟมุ่งขึ้นทิศเหนือวิ่งไปตามแนวเส้นทางเดิมประมาณ 4 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นทางยกระดับ โดยใช้เขตทางของทางหลวงหมายเลข 311 ข้ามทางแยก จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวขวาไปตามที่ราบทุ่งนา มุ่งขึ้นทิศเหนือไปบรรจบทางรถไฟเดิม ก่อนถึงสถานีโคกกระเทียม ในช่วงที่ 2 เริ่มจากสถานีท่าแค-สถานีปากน้ำโพ (เขตทางกว้าง 80 เมตร) เริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค เส้นทางมุ่งขึ้นทิศเหนือวิ่งไปตามแนวเส้นทางเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 148 กิโลเมตรใช้งบประมาณกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

โดยจะมีการก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินขนาดทางกว้าง 1 เมตร ขนานไปกับทางรถไฟเดิม ช่วงนี้มีระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่ม 2 ทางบริเวณเลี่ยงเมืองลพบุรีที่จะเป็นทางรถไฟระดับพื้นดินระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร

สำหรับการประมูลก่อสร้างเส้นทางรถไฟลพบุรี-ปากน้ำโพในครั้งนี้จะมีงานก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่และงานปรับปรุงสถานีเดิมรวม 20 สถานี แบ่งเป็นสถานีใหม่ 10 สถานีและงานปรับปรุงสถานีเดิม 10 สถานี อีกทั้งยังมีงานก่อสร้างย่านกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) และศูนย์ควบคุมการเดินรถกำหนดไว้ 1 แห่ง ที่สถานีนครสวรรค์ อีกทั้งยังมีการก่อสร้างด้านงานโยธาอื่นๆของโครงการ อาทิ ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู ถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ

ส่วนการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์แต่ละท้องถิ่นเป็นหลัก ผสมผสานกับความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์จึงได้รูปแบบสถานีที่ผสมผสานกลมกลืนกับสภาพพื้นที่นั้นๆทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลางขนาดเล็ก เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่งพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25-28 ธันวาคม 2559