thansettakij
เจาะพอร์ต "กองทุนวายุภักษ์" ปี 67 รับปันผล 2.17 หมื่นล้าน

เจาะพอร์ต "กองทุนวายุภักษ์" ปี 67 รับปันผล 2.17 หมื่นล้าน

26 มี.ค. 2568 | 23:12 น.

เปิดพอร์ตหุ้น "กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง" ในปี 67 ถือ 78 หุ้นไทย รับเงินปันผลรวมกว่า 2.17 หมื่อล้าน โต 23% จากปีก่อน ชูโรง 3 หุ้น SCB-PTT-TTB ปันผลฉ่ำกว่า 1.58 หมื่นล้าน

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ทำการรวบรวมข้อมูลพอร์ตการลงทุนของ "กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง" ในปี 2567 พบว่า ถือครองหุ้นไทย จำนวน 79 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 78 บริษัท  และอีก 1 รายการ คือ TFFIF หรือ การลงงทุนใน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปี 2567 กองทุนวายุภักษ์ได้รับเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 21,728.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,032.40 ล้านบาท หรือ 22.78% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ได้รับเงินปันผลรวม 17,695.74 ล้านบาท ซึ่งหุ้นในพอร์ตจำนวน 48 บริษัทมีการจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้นจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

ขณะที่อีก 22 บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลที่ลดลง ประกอบด้วย INTUCH, TISCO, IVL, DELTA, LH, BANPU, SCGP, TU, SIRI, CBG, SPALI, HANA, GLOBAL, BCH, BAM, CHG, MTC, BTG, TIDLOR, BLA, SAWAD และ  DOHOME เป็นต้น 

ด้านการจ่ายเงินปันผลปี 67 ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน มี 6 บริษัท ประกอบด้วย BJC, EGCO, RATCH, ICHI, AMATA และ BBGI เป็นต้น

หากแบ่งตามมูลค่าเงินปันผลหลักพันล้านบาทขึ้นไป มี 3 บริษัท ได้แก่ SCB, PTT และ TTB ขณะที่การจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ 101- 573 ล้านบาท มี 14 บริษัท ประกอบด้วย BCP KTB ADVANC PTTEP KBANK BBL BDMS INTUCH GULFI CPALL CPN AOT HMPRO และ BSRC

การจ่ายเงินปันผลในระดับตั้งแต่ 50 - 90 ล้านบาท มี 11 บริษัท, ขณะที่เงินปันผลมูลค่าตั้งแต่ 10 - 45 ล้านบาท มี 33 บริษัท, ส่วนเงินปันผลระดับ 1 - 9.5 ล้านบาท มี 12 บริษัท สำหรับมูลค่าเงินปันผลต่ำระดับ 1 ล้านบาทลงไป มี 3 บริษัท เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าหุ้นจำนวน 73 บริษัท จากทั้งหมด 79 บริษัทในพอร์ตการลงทุนของ "กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง" มีการประกาศการจ่ายเงินปันผลในงวดแรกของปี 2568 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินปันผลรวมกว่า 16,060.96 ล้านบาท

โดยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ SCB ปันผล 6,627.91 ล้านบาท, PTT ปันผล 4,513.84 ล้านบาท และ KTB ปันผล 991.73 ล้านบาท

10 อันดับหุ้นจ่ายปันผลสูงสุดปี 67 ในพอร์ตกองทุนวายุภักษ์ ได้แก่

  • SCB  7,727.33 ล้านบาท 
  • PTT  6,944.38 ล้านบาท
  • TTB  1,151.28 ล้านบาท
  • BCP  573.66 ล้านบาท
  • KTB  557.17 ล้านบาท
  • ADVANC  550.80 ล้านบาท
  • PTTEP  468.26 ล้านบาท
  • KBANK  326.85 ล้านบาท
  • BBL  277.19 ล้านบาท
  • BDMS  225.92 ล้านบาท

การจ่ายเงินปันผลสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2567 นั้น SCB ให้ปันผล 7,727.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,688.39 ล้านบาท หรือ 27.95% จากปีก่อนที่ 6,038.94 ล้านบาท, PTT ปันผล 6,944.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,736.09 ล้านบาท หรือ 33.33% จากปีก่อนที่ 5,208.28 ล้านบาท, TTB ปันผล 1,151.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.09 ล้านบาท หรือ 16.50% จากปีก่อนที่ 163.09 ล้านบาท

BCP ปันผล 573.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.90 ล้านบาท หรือ 40% จากปีก่อนที่ 409.75 ล้านบาท, KTB ปันผล 557.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.39 ล้านบาท หรือ 27.27% จากปีก่อนที่ 437.77 ล้านบาท, ADVANC ปันผล 550.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.04 ล้านบาท หรือ 15.04% จากปีก่อนที่ 478.76 ล้านบาท

PTTEP ปันผล 468.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.01 ล้านบาท หรือ 5.40% จากปีก่อนที่ 444.24 ล้านบาท, KBANK ปันผล 326.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.53 ล้านบาท หรือ 87.5% จากปีก่อนที่ 174.32 ล้านบาท, BBL ปันผล 277.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.19 ล้านบาท หรือ 40% จากปีก่อนที่ 197.99 ล้านบาท และ BDMS ปันผล 225.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.13 ล้านบาท หรือ 7.69% จากปีก่อนที่ 209.78 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับ 5 อันดับแรกที่ กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง ถือหุ้นสูงสุด ได้แก่ TTB เป็นอันดับ 1 จำนวน 9,594,040,915 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.85% รองลงมา คือ PTT จำนวน 3,472,191,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.16% ตามด้วย SCB จำนวน 785,298,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 23.32%, KTB จำนวน 641,901,315 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.59% และ TRUE จำนวน 624,574,126 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.81%

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยทำให้หลาย บจ. มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ส่งผลเชิงบวกให้อัตราการจ่ายเงินปันผลก็สูงขึ้นตามไปด้วย แม้มีบาง บจ. ที่จ่ายเงินปันผลลดลง เป็นผลมาจากการการชะลอตัวลงด้วยปัจจัยเฉพาะของอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มไฟแนนซ์ ที่ให้เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตให้สูงขึ้น

ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติโดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ "คูเวต" ที่ยังไม่มีความชัดเจนเกณฑ์การใช้สิทธิประกันตนในโรงพยาบาลต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น เป็นผลให้ผลการดำเนินงานอาจไม่เป็นไปตาที่คาดหวังไว้