อานิสงส์ดอกเบี้ยนโยบายลด  ถึงมือรายย่อย 61%

21 ธ.ค. 2567 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2567 | 12:52 น.

ธปท.เผย การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงมือลูกหนี้รายย่อยมากกว่ารายใหญ่ สะท้อนผ่าน 61%ของ MRR แจงมติกนง.ปิดท้ายปี 67 เป็นเอกฉันท์ “คงดอกเบี้ยที่ 2.25% เน้นรักษา Policy Space เหตุการแข่งขันรุนแรง ความไม่แน่นอนสูงขึ้น 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งที่ 6 ปิดท้ายปี 2567 ด้วยมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ต่อปี

ก่อนที่ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะออกมาว่า ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงสู่อัตรา 4.25-4.50% พร้อมกับ ชี้แนวโน้มปีหน้าว่า จะปรับลดดอกเบี้ยลงแค่ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% น้อยกว่า คาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่คาดว่า จะมีการลด 4 ครั้ง 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากสินค้านำเข้าและเชิงโครงสร้างต่างๆ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

รวมถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่มีสูงขึ้น ซึ่งหลักๆมาจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักจากนโยบายการค้า
 

“ปัจจุบันเราเห็นความสำคัญของการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินหรือ Policy Space ที่จะรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่เห็นว่า มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น"

รวมถึงการทำนโยบายมีความไม่แน่นอนสูง ประสิทธิผลของนโยบายการเงินค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการคุยกันเยอะ จริงๆเราดูในภาพใหญ่ขององค์รวมในกรอบเดิมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน

ทั้งนี้ เสถียรภาพระบบการเงิน แบ่งเป็นระยะยาวและระยะสั้น ซึ่งระยะยาว เห็นการปรับลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังไม่ได้เป็นประเด็นความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงระยะสั้นจากสินเชื่อตึงตัวหรือภาวะการเงินก็มีมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งที่แล้ว 0.25% และล่าสุด มาตรการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งปัจจุบันความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น 

ดังนั้น จึงต้องติดตามความชัดเจนของความไม่แน่นอน หลักๆ นโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น นโยบายเกี่ยวกับการกู้เพิ่มขึ้น ,นโยบายกีดกันทางการค้า,นโยบายที่อาจทำให้ตัวแปรกระทบเรา เช่น อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ลดลงเร็ว

ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจจะค้างอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เราคาด ซึ่งอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราต้องกำหนดนโยบาย เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจเล็ก แต่เป็นเศรษฐกิจเปิด 

สำหรับการการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นพบว่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย 61% ของ MRR ซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อยจะได้รับการส่งผ่านมากกว่าลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR  สะท้อนการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายแก่ลูกหนี้รายย่อยมากกว่าลูกหนี้รายใหญ่ 

ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า คุยกันเยอะทั้งในแง่ของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก นโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงจากการชะลอตัวของสินเชื่อ อาจจะกระทบภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

เพราะฉะนั้น คณะกรรมการจึงเห็นว่า ต้องติดตามพัฒนาการแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงผลตอบรับมาตรการ “คุณสู้เราช่วย” และพิจารณานโยบายการเงินให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกันต่อไป 

ในแง่ของเศรษฐกิจภาพรวม มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แม้จะเจอการแข่งขันที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยจีดีพีที่คาดการณ์ปีนี้จะเติบโต 2.7% จากการส่งออกปรับตัวดีขึ้น และ 2.9%ในปีหน้านั้น ซึ่งประมาณ 2.0%มาจากภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปได้ และการพลิกกลับมาเป็นบวกทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ 

“ภาพของเศรษฐกิจยังไปได้ โดยเฉพาะการส่งออกดีกว่าที่คาดไว้ในไตรมาส3 มองไปข้างหน้า มีความเสี่ยงขาสูงจากเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปได้ดี รวมถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าอาจจะเร่งส่งออกได้”
เพราะฉะนั้นโมเมนตัมของเศรษฐกิจ การส่งออกในช่วงไตรมาส4 และไตรมาสแรกปีหน้า ยังคงไปได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาว เราเห็นความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้น แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าว อาจจะเริ่มชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อกลุ่มเปราะบาง SMEs หรือ NPLs ครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้า ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ก้าวกระโดด 

ด้านภาพของอัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวใกล้เคียงกับกรอบล่าง ในแง่เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ 0.4% จากเดิมคาด 0.5% ปีหน้าอยู่ที่ 1.1% จากเดิม 1.2% ซึ่งหมวดพลังงานจะอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเห็นทิศทางทยอยปรับเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจแต่ไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงด้านเงินฝืด  

ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสะท้อนกำลังซื้อยังคงเป็นบวกและเห็นแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ ยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้จะอยู่ที่ 0.6% จากเดิม 0.5% และในปีหน้าคาด 1.0% จากเดิม 0.9%

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,055 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567