รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้จัดเตรียมความพร้อมในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2569 ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญที่บรรจุเอาไว้ในงบประมาณปีนี้ นั่นคือ การผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ครั้งนี้ ถูกบรรจุเอาไว้ในยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2569 ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยกำหนดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนผ่านการใช้จ่ายงบประมาณ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของรัฐบาลนั้น ได้ดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก โดยปรับจากการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการแจกเงินสดลงไปยังกลุ่มผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางก่อนกล่มแรก 14.55 ล้านคน ซึ่งดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนกลุ่มต่อมาเป็นการแจกเงิน 10,000 บาท เป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านคน ล่าสุดกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุเข้ามายังที่ประชุมครม. พิจารณาเห็นชอบในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เริ่มต้นการแจกเงินลงไปยังผู้สูงอายุก่อนในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนกลุ่มที่เหลือเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทะเบียนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาก่อนหน้านี้นั้น รัฐบาลยืนยันจะจ่ายให้ภายในปี 2568 ต่อไป
อย่างไรก็ตามภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในแผนงบประมาณปี 2569 นอกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ยังมีโครงการเพื่อการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกที่” ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็ก อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม
ขณะเดียวกันยังกำหนดการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ส่งเสริมความเท่าเทียมชายหญิงในครอบครัวและที่ทำงาน
อีกทั้งยังสนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานด้านการบริหารจัดการหนี้สินและการเงิน ส่งเสริมการออม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและการประกอบอาชีพ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบ และการจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน
เช่นเดียวกับการขยายโอกาสการเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ยกระดับคุณภาพสินค้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ด้วย