ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศเดือนกันยายน 2567 จำนวน 4.86 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่า 2.23 แสนล้านบาทหรือ 4.82%จากช่วงเดียวกันปีก่อน(YoY)ที่ 4.63 ล้านล้านบาท แต่ลดลง 0.79%จากสิ้นปี 2566(YTD)
ขณะที่ประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายใน 30 วันอยู่ที่ 2.47 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.83%YoY และเพิ่มขึ้น 2.06%YTD
ส่งผลให้ อัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรงหรือ LCR เดือนกันยายน.ปีนี้อยู่ที่ 196.56% เพิ่มขึ้น 1.93% จากปีก่อนที่มี LCR 192.82% แต่ลดลง 2.80% จากสิ้นปี 2566 ที่ 202.23%
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อัตราส่วน LCR ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนความแข็งแกร่งในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคาร โดยที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากหรือ LDR ของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อเห็นได้จาก LDR เดือนกันยายนปีนี้อยู่ที่ 105.37% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 108.03%
“ฐานเศรษฐกิจ”รวบรวมตัวเลขผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) 11 แห่งในงวด 9เดือนปี2567 พบว่า ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิรวม 14.52 ล้านล้านบาท ลดลง 3.59แสนล้านบาทหรือ 2.41%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 14.88 ล้านล้านบาท
ขณะที่เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 1.67แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.09% เป็น 15.41ล้านล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 15.24 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่พบว่า LDR ย่อตัวลงสอดคล้องกับสินเชื่อ
เมื่อพิจารณารายละเอียดยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อที่หดตัวนั้น เฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs)ทั้ง 6 แห่งพบว่า สินเชื่อลดลง เห็นได้จากธนาคารกรุงเทพ(BBL) ลดลง 3.12% มีอัตราส่วน LDR 84.8%ลดลงจาก 86.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ธนาคารกรุงไทย(KTB)ลดลง 2.49% สัดส่วน LDR (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) 96.99%ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 100.72% เช่นเดียวกับ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ลดลง 0.18% อัตราส่วน LDR 87.85% จาก 90.95%
ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ลดลง 0.86% อัตราส่วน LDR 94.4%จาก 96.4% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ลดลง 4.45% อัตราส่วน LDR 101%จาก 114 % และธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) ลดลง 8.07% อัตราส่วน LDR 97% จาก 102%
ส่วนธนาคารไทยเครดิต(CREDIT) มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 13.84% อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝาก 125.4% ตามมาด้วยบมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (LHFG) ที่ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 10.52%
สำหรับเงินรับฝากงวด 9เดือนปี2567 เพิ่มขึ้น 1.67 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.09% นำโดย CREDIT มีจำนวน 1.25แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.25 หมื่นล้านบาทหรือ 11.08% โดยเงินฝากประจำเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อที่เพิ่ม สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินฝากรวม (CASA) เท่ากับ 29.1%
รองลงมาคือ BAY จำนวน 1.89 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.27 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 7.18% โดยต้นทุนทางการเงินเพิ่มเป็น 2.22% จาก 1.66%เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะต้นทุนเงินรับฝากเพิ่มเป็น 2.11% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.55%,
LHFG 2.48แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.61หมื่นล้านบาทหรือ 6.96% ส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา คิดเป็น 59.8% และเงินฝากออมทรัพย์คิดเป็น 20.8% ของเงินฝากรวม และ ทีทีบีมีจำนวน 1.39 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.6หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4.96%
BBL มีเงินรับฝากรวม 3.10 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.3 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.68 %จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.16 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วน CASA เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 61.5% แต่เงินฝากกระแสรายวันลดลงมาที่ 8.3% จาก 8.8% และเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มเป็น 53.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 52.7% ตามลำดับ ขณะที่สินทรัพย์สภาพคล่อง/เงินรับฝาก 54.1% ลดลงจาก 56.0%
KTB มีเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 3.30 หมื่นล้านบาทหรือ 1.26% เป็น 2.64ล้ านล้านบาท โดยมีสัดส่วน CASA ในระดับสูงเท่ากับ 77% ต้นทุนทางการเงินเพิ่มเป็น1.50% จาก 1.22%
KBANK มีจำนวน 2.77 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.94หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3.33 % จาก 2.68ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จากเงินรับฝาก กระแสรายวันที่เพิ่มในระยะสั้น
BAY มีจำนวน 1.89ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27แสนล้านบาทหรือ 7.18%จาก 1.77ล้านล้านบาท สัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อเงินรับฝากทั้งหมดอยู่ที่ 52.9%
TTB มีจำนวน 1.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6หมื่นล้านบาทหรือ 4.96%จาก 1.32ล้านล้านบาท โดยบัญชีเงินฝากประจำยังเป็นผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์และเป็นประเภทเงินฝากที่มีสัดส่วน 38%สูงที่สุด ต้นทุนเงินรับฝากเพิ่มเป็น 1.64% จาก 1.24%
“มีเพียง SCB ที่เงินรับฝากลดลง 114,393 ล้านบาทหรือ 4.5% จาก 2.54 ล้านล้านบาทเป็น 2.43ล้านล้านบาททหรือ 4.5% โดยมีสัดส่วน CASA ลดลงจาก 81.1% เป็น 77.6%”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567