thansettakij
ลุ้นบาทอ่อนทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ หนุนส่งออก ลดผลกระทบภาษ๊ทรัมป์

ลุ้นบาทอ่อนทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ หนุนส่งออก ลดผลกระทบภาษ๊ทรัมป์

11 เม.ย. 2568 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2568 | 06:29 น.

กรุงไทย-ทิสโก้คาด เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 หนุนส่งออกไทย ลดผลกระทบ Tariff Trump ลุ้นกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 30 เม.ยนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจไทยแผ่ว เหลือโต 1.2%  

ท่ามกลางความผันผวนระดับสูงในตลาดเงินและตลาดทุน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าแบบต่างตอบโต้กว่า 60 ประเทศ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนหรือ Trump’s Uncertainty ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางภาพรวมทั้งเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยการเคลื่อนไหวในสินทรัพย์หลากหลาย  

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุนกรุงไทย Global market ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มภาพรวมตลาดเงินตลาดทุน ปัจจัยหลักยังขึ้นกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ในแง่โอกาสที่จะเจรจาได้หรือไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ประเทศอื่นๆ น่าจะพอพูดคุยกันได้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุนกรุงไทย Global market ธนาคาร กรุงไทย นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุนกรุงไทย Global market ธนาคาร กรุงไทย

ยกเว้นจีน แต่คาดว่า อาจจะเจรจากันได้ แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะเป้าหมายของสหรัฐ น่าจะเป็นการจำกัดการเติบโตของอำนาจจีน ดังนั้นแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท น่าจะเคลื่อนไหว 35 -36 บาท/ดอลลาร์ได้ถึงไตรมาส 2 

นายพูนกล่าวว่า กรณีที่ไม่สามารถพูดคุยกันไม่ได้ ก็ต้องดูว่า จีนจะรับมืออย่างไรเช่น จีนจะปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าหนักแบบปี 2018(ปี2561) ซึ่งจะทำให้เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุ 37- 38บาท/ดอลลาร์ได้ และปิดสิ้นปีอาจจะสูงกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากจำกัดไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่ามากเช่น 7.40-7.50 เงินบาทก็อาจไม่ได้ทะลุ 36 บาทไปไกลมาก จบสิ้นปีอาจจะพอลงมาแถว 35 บาทได้

ลุ้นบาทอ่อนทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ หนุนส่งออก ลดผลกระทบภาษ๊ทรัมป์

กรณีที่สหรัฐกับจีนสามารถคุยกันและจบได้ เงินบาทจะแข็งค่ากว่าที่ประเมินไว้บ้าง แต่ไม่น่าจะเยอะน่า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.00บาทถึงสิ้นปี แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่อาจทำให้คาดการณ์เปลี่ยนไปได้ เช่น ราคาทองคำ หรือเงินทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย 

"ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่ค่าเงินบาทอ่อน เพราะราคาทองคำลงเยอะ และแรงขายหุ้นด้วย รวมทั้งตลาดขายสกุลเงินเอเชียกันหมด”

สำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออก แม้ว่าจะส่งออกไปสหรัฐไม่มาก ก็อาจจะลำบากหน่อย เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จะต้องได้รับผลกระทบการส่งออกอยู่ดี  โดย Krungthai COMPASS คาดว่า ผลกระทบ จาก TariffTrump ต่อ GDPไทย ประมาณ 0.83-1.23% จาก Base LINE ที่คาดไว้ 2.7% ในปีนี้ และกระทบต่อภาคส่งออกติดลบ 1.8-1.08% 

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)กล่าวว่า ถ้าอัตราภาษีอยู่ที่ 36% อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ไทยลดลง 1.3% จากปีนี้ที่ประเมินไว้ที่ 2.8%  มีความเสี่ยงที่จะโตได้เพียง 1.5% 

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

แม้ว่าจะมีหนทางเจรจา เพื่อต่อรองให้สหรัฐลดอัตราภาษีจาก 36% ลงมาได้เต็มที่ อาจจะลดได้ 20-25% แต่ก็ยังมีผลลบต่อ GDP ของไทยประมาณ 1-1.2% ซึ่งอัตราขยายตัวของ GDP อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% หรือแค่ 1.5% 

วิธีการเจรจาปรับลดอัตราภาษีทำได้ 2 ทางคือ ลดการส่งออกและเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งก็ไม่ง่าย เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่ม จากสหรัฐ โดยปรับลดการนำเข้าจากกัมพูชา สปป.ลาวหรือเมียนมา รวมถึงการนำเข้าข้าวสาลีจากสหรัฐแทนบราซิล

นอกจากนั้น อาจต้องพิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากสหรัฐ ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากประเทศไทย มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับทาง UAE ไปแล้ว แต่อาจจะเป็นการนำเข้าในส่วนเพิ่มจากสหรัฐในอนาคต 

ขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยปกติ จะมีโรงกลั่นของไทยเพื่อรองรับ แต่หากเปลี่ยนการนำเข้าเป็นน้ำมันเตาจากสหรัฐอาจจะไม่สามารถทดแทนได้ในทันที แม้นว่าทางปตทประกาศว่าอาจจะพอรับได้บ้าง แต่มูลค่าอาจจะยังไม่มากพอที่จะไปเจรจากับสหรัฐอยู่ดี 

“แผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติหรือพลังงานจากสหรัฐเพิ่มนั้น ยังติดข้อจำกัดเรื่องโรงกลั่นและสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้ากับ UAE ไปแล้วในระยะสั้น จึงไม่สามารถทำได้จริง ฉะนั้นสินค้าเกษตร น่าจะทำได้เร็ว แต่ก็จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องออกแบบให้ดี ทั้งในแง่ของการเยียวยาและช่วยผู้ประกอบการในประเทศให้อยู่รอดท่ามกลางสินค้าเกษตรสหรัฐที่จะทะลักเข้ามาด้วย” 

 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราการขยายตัวของจีดีพีไทย กรณีฐานที่จะเติบโต 1.5%ในปีนี้ หรือกรณีแย่ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นจีดีพีขยายตัวแค่ 1.2% จึงเป็นหน้าที่ของนโยบายการเงินที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยมองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 30 เมษายน น่าจะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และกนง.น่าจะส่งสัญญาณผ่อนคลายกว่าที่ผ่านมา

“สงครามทางการค้ารอบนี้เปลี่ยนเกมการค้าโลก เรียกว่า เป็นแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจก็ว่าได้ เพราะการเก็บภาษีที่อัตรา36% เป็นอัตราที่ไม่มีใครคิดว่า จะสูงขนาดนี้ จึงเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสูงกว่าที่ตลาดมองไว้"

ฉะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะมีท่าทีที่ผ่อนคลาย ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจลงมาใกล้ระดับ 2% จากเดิมที่ 2.5%

สำหรับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงใกล้ระดับที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่า ถ้ากนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง จะช่วยให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส2 แต่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตาเพราะ หากไตรมาส 1 เติบโตแค่ 2% มีโอกาสที่จะพลาดเป้า(8-10%) และส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของ GDP ได้เช่นกัน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,087 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2568