สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมระหว่างสมาชิก เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกองทุนและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกลไกการออมการลงทุนระยะยาวที่สำคัญเพื่อรองรับการเกษียณ
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สมาชิกกองทุนได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมและโปร่งใส ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและคำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกกองทุนโดยรวมเป็นสำคัญ และการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. การปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน
- กำหนดเงื่อนไขการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของสมาชิกได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้งต่อกอง หากกำหนดเกิน 4 ครั้ง ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด
- กรณีมีเงินเข้ากองทุนในวันที่ไม่ตรงกับวัน trade date ให้ บลจ. นำเงินเข้าบัญชีของกองทุนโดยไม่ชักช้า เพื่อนำไปบริหารจัดการ และคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกต่อไป
- กำหนดวันที่มีผลของการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก และวันดำเนินการคำนวณจำนวนหน่วยแยกออกจากกันให้ชัดเจน และขยายเวลาวันดำเนินการคำนวณจำนวนหน่วยกรณีลงทุนในต่างประเทศ เป็นไม่เกิน 5 วันทำการนับแต่วันที่ใช้ในการคำนวณจำนวนหน่วย โดยไม่นับรวมวันหยุดทำการของต่างประเทศและวันหยุดทำการของกองทุนรวมไทย
- ในการจัดทำรายงานสถานะการลงทุนของสมาชิก ให้ บลจ. แสดงจำนวนหน่วยของสมาชิก ณ วันสิ้นงวดอย่างถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริง โดยให้กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะไม่รับทำรายการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนหรือโอนย้ายกองทุน เพื่อให้สามารถแสดงสถานะการลงทุนของสมาชิกได้อย่างถูกต้อง
2. แนวทางการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยให้ บลจ. จัดให้มีแนวทางและเครื่องมือในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Liquidity Risk Management Tools: LMTs) ทั้งกรณีทั่วไปและที่เกิดจากการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ บลจ. เลือกใช้ตามความจำเป็น ให้เหมาะสมกับสภาพของกองทุนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
3. การกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินทำหน้าที่รับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- ยกเลิกการกำหนดให้ บลจ. ต้องจัดให้มีผู้รับรองมูลค่าในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- การให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีจะเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีความพร้อมในด้านระบบงาน
- เพิ่มหน้าที่ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยต้องทำหน้าที่รับรอง NAV ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- ผู้รับฝากทรัพย์สินที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องปฏิบัติงานการรับรองความถูกต้องของ NAV ของวัน trade date และของวันสุดท้ายของเดือน และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับรองแล้วให้แก่ บลจ. ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ NAV ครบถ้วน
- ผู้รับฝากทรัพย์สินในปัจจุบันที่เป็นผู้รับรองมูลค่า ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี กรณีผู้รับฝากทรัพย์สินในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับรองมูลค่า หรือยังไม่ได้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากต้องการให้บริการ ต้องแจ้ง ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาความพร้อมด้านระบบงานเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ธันวาคม 2567 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป เว้นแต่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของกองทุน และการกำหนดแนวทางและการใช้ LMTs มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป