คณะกรรมการธปท. มีอำนาจอะไรบ้าง ทำไมจึงต้องเป็นอิสระจากการเมือง

06 พ.ย. 2567 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 12:14 น.

เปิดอำนาจคณะกรรมการธปท. มีอำนาจทำอะไรบ้าง นอกเหนือจากการบริหารจัดการงานภาพรวมของ ธปท. ทำไมต้องมีการคัดค้านการครอบงำธปท. โดยกลุ่มการเมือง ทั้งจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธปท.และอดีตพนักงานธปท. 

การประชุมคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานต้องเลื่อนการประชุมจากวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 

หลังจากมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณา ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากหลายฝ่ายไม่ให้ฝ่ายการเมืองส่งคนมาแทรกแซงธปท.

ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่า การเลื่อนเวลาการประชุมออกไป เนื่องจากยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันของคณะกรรมการสรรหาเกี่ยวกับการลงมติคัดเลือกประธานกรรมการธปท. ซึ่งมีตังเต็งคือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนำเสนอโดยกระทรวงการคลัง 

คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจสำคัญด้านใดบ้าง?  นอกเหนือจากการบริหารจัดการงานภาพรวมของ ธปท. ทำไมต้องมีการคัดค้านการครอบงำธปท. โดยกลุ่มการเมือง ทั้งจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธปท.และอดีตพนักงานธปท. 

  

1.กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่า จะไปลงทุนใน สินทรัพย์ใดบ้าง 

  • พ.ร.บ. รปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ ของ ธปท. เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง 

2. แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย (policy board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแล เสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว 

  • ออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือก กนง. กนส. กรช.

พ.ร.บ.ธปท.มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง. 4 คน (จาก 7 คน)

พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/6 ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ  รองผู้ว่าการ ซึ่งผู้ว่าการกำหนดจํานวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการ มอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่ง คณะกรรมการ รปท. แต่งตั้งจํานวนสี่คน เป็นกรรมการ

  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนส. 5 คน (จาก 11 คน)

พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธาน กรรมการ รองผู้ว่าการ ซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จํานวนห้าคนเป็นกรรมการ 

  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กรซ. 3 คน (จาก 7 คน)

พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/11 ให้คณะกรรมการระบบชำระเงิน(กรช.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ  รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จํานวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการ ประธานสมาคมรนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จํานวนสามคนเป็น กรรมการ

3.ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีคลัง เพื่อปลดผู้ว่าการ ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือ การเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท.เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดย มติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง