เปิดเบื้องหลังเลื่อนประชุม! เลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คณะสรรหาเสียงแตก

04 พ.ย. 2567 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2567 | 10:32 น.
2.7 k

เปิดโผคะแนนเสียง "คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" พบ 3 เสียงหนุน-2 เสียงค้าน 'กิตติรัตน์' ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มการเมือง และความกังวลเรื่องความเป็นอิสระของ ธปท.

การประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ด และบอร์ดแบงก์ชาติ

ที่เดิมทีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. ได้ถูกเลื่อนออกไป เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งและการคัดค้านการเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.

 

“ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567) ออกไป เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567” นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุ

การสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ครั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสองรายหลังได้รับการเสนอชื่อจาก ธปท.

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ในหลายประเด็น แต่ฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีข้อขัดข้อง ทั้งในเรื่องระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นข้าราชการการเมือง

ขณะที่ประเด็นคดีข้าวบูล็อคที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่ยังมีปัญหากรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องนายกิตติรัตน์ กรณีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด

จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจพบว่า สาเหตุสำคัญของการเลื่อนประชุมมาจากความเห็นที่แตกต่างกันของคณะกรรมการสรรหาฯ 7 คน โดยแม้จะมีเสียงสนับสนุนนายกิตติรัตน์จากกรรมการ 3 ราย ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 

อย่างไรก็ตามก็มีกรรมการที่คัดค้านอย่างชัดเจน 2 ราย คือ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. และนายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ คปภ. 

ขณะที่กรรมการที่เหลือ 2 คน ยังลังเลหรือเป็นกลาง คือ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

นอกจากความเห็นที่แตกต่างกันของกรรมการแล้ว การเลื่อนประชุมครั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากแรงกดดันภายนอก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม ที่นัดรวมตัวประมาณ 50 คน นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านกรณีมีนักการเมืองแทรกแซงการปฏิบัติงานของ ธปท.