จับตาแบงก์พาณิชย์ หั่นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก เร่งสางหนี้ครัวเรือน

17 ต.ค. 2567 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 16:42 น.

กูรูชี้มีลุ้นแบงก์พาณิชย์ ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ลง 0.125% ตามต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง ขานรับนโยบายกนง. และแม้ดอกเบี้ยเงินกู้ลด แต่ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่โต ยังคุมเข้ม NPLs เชื่อแบงก์ชาติไม่หนุนให้ก่อหนี้ใหม่ หวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมากกว่า

หลังจากที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (16 ต.ค. 2567) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทำให้เป็นที่จับตามองว่าหลังจากนี้ทางธนาคารพาณิชย์จะมีการทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก ตามต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงด้วยหรือไม่นั้น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) เปิดเผยว่า หากอนุมานด้วยเหตุผล (logic) ก็มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพานิชย์จะลดดอกเบี้ยลงทั้ง 2 ขา คือ ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้

ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็พยายามที่จะให้เห็นภาพของการตอบรับกับการปรับลดดอกเบี้ยลงของกนง. ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องมีการพิจารณาในเรื่องของความอ่อนไหวของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากร่วมด้วย ว่าความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการปรับลดลงของดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาอาจไม่ได้มากมายนัก ราว 0.125%

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงของไทยในรอบต่อไปนั้น เชื่อว่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปและเป็นการมอนิเตอร์สถานการณ์เศรษฐกิจในทุกๆ มุม ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขคือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง

แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่เชื่อว่าเราจะยังคงเห็นภาพการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์อยู่ต่อไป โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากแบงก์เองก็ต้องคุมระดับหนี้มิก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่ให้เพิ่มสูงไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะดูเหมือนว่าความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ของประชาชนจะยังไม่ดีขึ้น

และเชื่อว่าแบงก์ชาติเองก็ไม่ได้สนับสนุนให้ก่อนหนี้ใหม่เพิ่มเช่นเดียวกัน ซึ่งในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ต้องการเห็นอาจเป็นในแง่ของการสนับสนุนสินเชื่อในส่วนของภาคธุรกิจมากกว่า โดยเฉพาะในภาคส่วนธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศไทย

ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) มองว่าจะยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะตัวเลข NPLs ล่าสุดยังแสดงให้เห็นถึงว่ากลุ่มดังกล่าวยังมีความสุ่มเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อยู่มาก ดังนั้น ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่จึงยังเห็นภาพที่คลายเดิม

สำหรับกำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ ตามการประเมินของ Consensus จำนวน 7 แบงก์หลักที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกอบด้วย KBANK SCB KTB BBL KKP TTB และ BAY คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.17 หมื่นล้านบาท ลดลงประมาณ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะเป็นโลวซีซันของธุรกิจ แต่เติบโต 2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งก็ไม่ได้เหวี่ยงมาก

ในขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3/67 อาจไม่มีการเติบโต แต่ NPLs สามารถรักษาระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าไว้ได้ และคาดว่าจะกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 4/67 ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในไตรมาส 3/67 มีแนวโน้มที่จะทรงตัว หรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย และจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 68

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันราคาก็ยังไม่ได้แพงมาก แม้ว่าผลการดำเนินงานอาจไม่ได้ขยายตัวโดดเด่นเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่กลุ่มแบงก์ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างสูงทั้งแบงก์เล็กและใหญ่ และจ่ายสูงกว่าตลาด

"ด้วยภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาลงคนไปหาหน้าหุ้นที่ Lock Yield สูงๆ แม้ว่าแบงก์จะบาดเจ็บจากการลดลงของ NIM กระทบต่อมาร์จิ้น แต่แบงก์ก็ยังมีความน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์เงื่อนไขของกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่ต้องการหุ้นมีแนวโน้มธุรกิจที่ดีและให้ปันผลสูง ส่วนกลยุทธ์นั้น มองว่าในระยะสั้นราคาหุ้นย่อตัวก็สามารถตั้งรับได้"