จับตาเงินบาทพักฐานเทขายทำกำไร หลังแข็งค่า12%

09 ต.ค. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 08:41 น.

กรุงศรีจับตา เงินบาทพักฐาน หลังไตรมาส 3 แข็งค่า12% ค่ายกสิกรไทยชี้ “ผู้ส่งออก-นำเข้า” แห่ปิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทั้งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บัญชีเงินฝาก FCD และ FX Options ซีไอเอ็มบีไทย เตือนอย่าเก็งกำไรบาทแข็ง

KEY

POINTS

  • เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.3% จากต้นปี แต่แข็งค่ารวดเร็ว 12% ในไตรมาส 3 ปี 2567 ธปท.ต้องเข้าแทรกแซง เพื่อลดความผันผวนและปรับสมดุล 
  • การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการนำเข้าเริ่มใช้เครื่องมือปิดความเสี่ยงมากขึ้น
  • คาดการณ์เงินบาทอาจปรับอ่อนค่าในช่วงปลายปี โดยอยู่ในช่วง 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เตือนอย่างเก็งกำไรค่าเงิน 

แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเพียง 3.3% จากต้นปีที่ระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ระดับ 33.04 บาทต่อดอลลาร์ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วราว 12% จากระดับ 36.8 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ระดับ 32.3 บาทต่อดอลลาร์

"การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าค่าเงินอื่นๆในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการส่งออกของไทย"

จับตาเงินบาทพักฐานเทขายทำกำไร หลังแข็งค่า12%

อย่างไรก็ตาม เงินบาทเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท ในช่วงแข็งค่าและผันผวนสูง ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

ตลาดปรับสถานะ ตามคาดการณ์ลดดอกเบี้ยเฟด 

นายนรวิชญ์ เวทไว ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะนี้ เนื่องจากการปรับสถานะของตลาด ตามคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่คาดการณ์ว่า จะมากและเร็วกว่าคาด

นายนรวิชญ์ เวทไว ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

หลังจากที่เฟดประเดิมการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ด้วยการลดดอกเบี้ยขนาดใหญ่ที่ 0.5% มากกว่าปกติที่มักจะปรับครั้งละ 0.25% ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐถูกเทขาย

ขณะที่ค่าเงินเยนและค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ช่วยสนับสนุนค่าเงินเอเชียรวมถึงค่าเงินบาทที่ได้รับปัจจัยบวกจากราคาทองคำที่ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง

“เราประเมินว่า เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในช่วงแรกของการลดดอกเบี้ยเท่านั้น ในระยะข้างหน้าคาดการณ์ว่า จะเริ่มมีการขายทำกำไรค่าเงินบาท"

อย่างไรก็ตามโดยรวม เราคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าในระยะนี้ โดยมีแนวรับสำคัญที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะมีการทยอยปรับอ่อนค่าในช่วงปลายปีนี้ ด้วยเป้าหมายที่ 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลเชิงบวกต่อผู้ส่งออกในการแข่งขัน เรื่องราคาของการทำกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งสามารถเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ 

อย่างไรก็ดี ความต้องการบริโภคสินค้าของตลาดโลกในปี 2567 นี้ อาจจะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรงในตลาดเช่นกัน 

"ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้นำเข้าและกิจกรรมการลงทุนไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการได้รับผลเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น"

แนะผู้ประกอบการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

ในสถานการณ์ที่ค่าเงินผันผวนอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ายังคงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดโลกอย่างใกล้ชิดพร้อมกับปรับตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เพื่อดำรงความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมกับใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งในมุมของการปิดความเสี่ยงของรายได้หรือต้นทุนที่มาจากเงินตราต่างประเทศ พบว่า ปีนี้ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้า ได้มีการใช้เครื่องมือปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นายนรวิชญ์กล่าวต่อว่า จากภาพรวมตลาดโลกที่ผันผวนอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวมากขึ้นและมีความพยายามที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ

ทั้ง สัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (FX Forward Contract) บัญชีเงินฝากสกุลตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) และ อนุพันธ์ทางการเงินต่างๆ เช่น FX Options เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เงินบาทมีโอกาสพักฐานหลังแข็งค่า12%

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรีฯ ยังคงมองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญที่กดดันค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกให้อ่อนค่าลงคือ การลดดอกเบี้ยของเฟด และความคาดหวังเกี่ยวกับภาวะ Soft Landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯและของโลก

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

หลังจากที่เฟดเริ่มต้นวงจรผ่อนคลายทางการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย 50bps ในการประชุมรอบล่าสุด ได้สร้างพื้นที่มากขึ้นสำหรับธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกในการลดดอกเบี้ย

โดยจำกัดความเสี่ยงที่สกุลเงินของตนจะอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง เห็นได้จากการที่จีนรอจังหวะเวลาและเริ่มประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 “ในภาวะเช่นนี้ แม้เราคาดว่า แรงสนับสนุนต่อสกุลเงินเอเชียและสกุลเงินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์จะยังดำเนินต่อไป แต่การที่เงินบาทเคลื่อนไหวทิศทางเดียวตลอดไตรมาส 3 ซึ่งเงินบาทแข็งค่ามากถึง 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้เรายังคงเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่เงินบาทจะพักฐานช่วงสั้น” นางสาวรุ่ง กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกเผชิญความเสี่ยงหลักจากความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งการแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี ทำให้นักลงทุนเผชิญความท้าทายในการประเมินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

กรุงศรีฯ ให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไตรมาส 4 ที่ 32.00-33.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดสะท้อนการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปมากพอสมควรแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนจะปรับตัวผันผวนสูงตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงาน 

ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลกลับเข้ามาในตราสารสกุลเงินบาทอาจมีแรงขายสลับออกไปบ้าง หากผู้ร่วมตลาดทบทวนความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายการเงินและการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกอาจสร้างแรงเหวี่ยงต่อค่าเงินบาทมากเกินจริงในบางเวลา 

สำหรับด้านปัจจัยพื้นฐาน กรุงศรีฯ คาดว่า ปีนี้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจากปี 2566 โดยประเมินว่า จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1 หมื่นล้านดอลลาร์จากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยว ส่วนการขยายตัวของภาคส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงิน โดยขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลต่ออัตราการทำกำไร

ซีไอเอ็มบีไทยเตือนอย่าเก็งกำไรในบาทแข็ง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า การแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทจะทำให้ความสามารถในการส่งออกของไทยด้อยลงและกระทบการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคการผลิตและการจ้างงานได้

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

"หากดูค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ผ่านมา เป็นการแข็งค่าที่เกาะกลุ่มกับสกุลเงินอื่นๆในประเทศภูมิภาคบ้าง เห็นได้อย่างค่าเงินริงกิต ที่แข็งค่ามากกว่าเงินบาท"

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของสกุลเงินริงกิตนั้น เพราะประเทศมาเลเซียมีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มีความชัดเจน โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 5% พร้อมมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไปลงทุน

ส่วนกรณีของไทยเห็นเงินไหลเข้าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งอาจจะมาพักเงิน เก็งกำไร รอแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเงินทุนนี้้อาจจะมาเร็วไปเร็ว อาจจะต้องติดตามสถานการณ์ และเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวทองคำ

“ซีไอเอ็มบีไทยไม่ได้มองว่า เงินบาทจะแข็งค่าลากยาวทางเดียว ดังนั้น อย่าเก็งกำไรในบาทแข็ง วันนี้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยของเฟด เชื่อว่า จะมีความชัดเจนในที่สุด"

อย่างไรก็ตาม คนเก็งกำไรเรื่องเฟดลดดอกเบี้ยแรงอีก 50bsp ใน เดือนพ.ย.ปีนี้ หลังจากนั้นจะปรับลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐยังคงสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย จึงมองทิศทางเงินบาทจะไม่แข็งค่าขาเดียว และเชื่อว่า ความผันผวนในตลาดโลกยังคงอยู่ โดยเฉพาะราคาทองคำ

สำหรับวิธีดูแลค่าเงินบาทที่แบงก์ชาติทำอยู่ คือ

  1. ใช้ทุนสำรองดูแลความผันผวนระยะสั้น
  2. รักษาสมดุลเงินไหลเข้าออก เพราะการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง(FDI) หรือ การลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ

ขณะที่กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM)ระบุว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค จากทั้งการลดดอกเบี้ยของเฟด ราคาทองคำที่สูงขึ้นและเงินทุนไหลเข้าไทย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม พบว่าธปท. เข้าดูแลเงินบาท หลังภาวะการเงินตึงตัวขึ้นเร็ว ในระยะต่อไป มองว่า เงินบาทจะยังผันผวนสูง โดยต้องจับตาการลดดอกเบี้ยของเฟด สงครามในตะวันออกกลาง และการสื่อสารของ กนง. ซึ่งอาจทำให้บาทมี Correction ในระยะสั้น จึงมองเงินบาท โดยเฉลี่ยอาจอยู่ในกรอบราว 32.45-32.95 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ไป

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567