พิษสงคราม-บาทแข็ง ฉุดเศรษฐกิจไทย ส่งออกโค้งสุดท้ายวูบ 2.5 แสนล้าน

04 ต.ค. 2567 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 16:25 น.

ไฟสงครามตะวันออกกลางส่อปะทุรุนแรงรอบใหม่ ผสมโรงบาทแข็งค่า ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ ประเมินทุบส่งออกไทย 4 เดือนสุดท้ายหายวับกว่า 2.5 แสนล้าน จับตาอิสราเอล-อิหร่านพร้อมตอบโต้รุนแรง ลากเศรษฐกิจ ค้าโลกดิ่งเหว กังวลราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ เงินเฟ้อพุ่ง จี้ทุกฝ่ายรับมือ

สงครามในตะวันออกกลางถูกยกระดับขึ้นอีกครั้ง หลังจากวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลเกือบ 200 ลูก ถล่มเป้าหมายทางทหารในอิสราเอล เพื่อตอบโต้อิสราเอลที่สังหารผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน รวมทั้งใช้กองทัพโจมตีเลบานอนและกาซา

อิสราเอลประกาศจะโจมตีกลับ โดยระบุการกระทำของอิหร่านเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ต้องชดใช้ ขณะที่อิหร่านประกาศยุติการโจมตีอิหร่าน แต่เตือนหากอิสราเอลโต้กลับและโจมตีดินแดนของอิหร่าน อิสราเอลจะต้องเผชิญกับการโจมตีอีกหลายครั้งและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลสะเทือนและสะพรึงไปทั่วโลก และต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนับจากนี้

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ถือเป็นระเบิดเวลาลูกที่สอง ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก จากระเบิดลูกแรก คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน (ที่เวลานี้ลากยาวมานานกว่า 2 ปี 7 เดือน) ที่ในระยะแรกของเหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกตกต่ำ แม้เวลานี้จะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม

น้ำมัน-ค่าระวางเรือจ่อพุ่ง

สำหรับสงครามอิสราเอล-อิหร่าน ทุกฝ่ายจับตาใกล้ชิดถึงพัฒนาการของสถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลในเวลานี้คือ หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างจะส่งผลกระทบกับการเดินเรือ และส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้น เพราะอย่าลืมว่าตะวันออกกลางคือแหล่งน้ำมันสำคัญของโลก ซึ่งจะกระทบต้นทุนของภาคการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นไปอีก จากที่เวลานี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวขึ้นไม่มากหลังเกิดเหตุการณ์

“ณ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ปรับขึ้นมาก ส่วนหนึ่งผลจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าและใช้น้ำมันรายใหญ่อยู่ในช่วง Golden Week หรือวันชาติจีน ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาว (1-7 ต.ค.) ต้องรอดูว่าพอเปิดมาในสัปดาห์หน้า และจีนกลับมาผลิตสินค้าและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ความต้องการน้ำมันและพลังงานจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทิศทางราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร จะปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งในความเห็นไม่น่าจะปรับขึ้นแรง เพราะแม้มีสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แต่การขนส่งสินค้ายังทำได้ ขณะที่จำนวนเรือและตู้คอนเนอร์ปรับตัวดีขึ้น จากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้ขยายเพิ่มขึ้นมากนัก”

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดีในส่วนของผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ในเวลานี้ได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว และในเดือนตุลาคมอยู่ในช่วงการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบ ซึ่งตัวเลขส่งออกคงไม่กระทบมาก หากไม่มีปัญหาในเรื่องของการขนส่งระหว่างประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจต่อสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านได้ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยต้องประสานงานกับลูกค้าเพื่อส่งมอบสินค้าให้ทันเวลา และติดตามการชำระเงินของลูกค้า เพราะหากมีการเลื่อนการส่งมอบจะมีผลต่อสภาพคล่องหรือขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รักษาตลาดไกล-เพิ่มตลาดใกล้

นอกจากนี้ผู้ส่งออกต้องปรับตัวโดยการ "รักษาตลาดไกล และเพิ่มตลาดใกล้" เพื่อลดความเสี่ยงต่อสถานการณ์ เช่นหันมาทำตลาดอาเซียนที่อยู่ใกล้มากขึ้น เพราะยังขยายตัวได้ดี โดยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้การส่งออกของไทยไปอาเซียนยังขยายตัวที่ 4.1% เฉพาะตลาดเวียดนามยังขยายตัว 3%

พิษสงคราม-บาทแข็ง ฉุดเศรษฐกิจไทย ส่งออกโค้งสุดท้ายวูบ 2.5 แสนล้าน

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลนอกจากสงครามตะวันออกกลางแล้ว ปัจจัยลบจากเงินบาทที่แข็งค่ามากในรอบ 30 เดือน ล่าสุด (3 ต.ค. 67) แม้จะอ่อนค่าลงจากระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันก่อนมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังถืออยู่ในระดับที่แข็งค่า และมีความผันผวน ทั้งนี้ในมุมมองผู้ส่งออก ระดับเงินบาทที่อันตรายที่สุดและเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรงคือที่ระดับ 32 บาท หรือต่ำกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระดับ 33-34 บาทถือว่าเสี่ยงปานกลาง และระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ถือเป็นระดับที่ดี สามารถแข่งขันได้ และสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค

“สรท.ประเมินจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากต้นปีอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ เวลานี้อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือหายไปประมาณ 4 บาทต่อดอลลาร์ หากยังไม่ได้รับการแก้ไขให้อ่อนค่า จะกระทบรายได้การส่งออกของไทยในรูปเงินบาทหายไปเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในเดือนที่เหลือของปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. หากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้อาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท”

ลามกระทบ ศก.ไทย-โลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามอิสราเอล-อิหร่าน หากขยายวงและมีความรุนแรงจากการตอบโต้กันไปมา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และกระทบเศรษฐกิจ และการค้าไทย ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงค่าระวางเรือที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามค่าความเสี่ยงและระยะทางการเดินทาง เช่นสินค้าที่ไปยุโรป ที่ต้องเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง และต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกา ทำให้ต้องเพิ่มเวลาในการเดินทาง เรือต้องใช้น้ำมันเพิ่ม ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ค่าบาท-สงคราม 2 ปัจจัยเสี่ยงสุด

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ณ เวลานี้มี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบภาคการส่งออกของไทย โดยปัจจัยเสี่ยงมากสุดคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทย ตนเคยประเมินว่า หากเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รายได้ส่งออกในรูปเงินบาทจะหายไป 2 แสนล้านบาทในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หรือหายไปประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับที่ กกร. และสรท.ประเมิน

ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ต่อปี ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ มีข้อแนะนำผู้ส่งออกดังนี้

1.ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (ฟอร์เวิร์ด) โดยบุ๊กค่าเงินไว้ป้องกันการขาดทุน 2.การค้าสกุลหยวนกับประเทศจีนที่เป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของสินค้าไทย ซึ่งเวลานี้เงินบาทเทียบเงินหยวนเราแข็งค่ากว่าเงินหยวน 1.5% เพื่อป้องกันการขาดทุนจากซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ และ 3.การบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อชดเชยกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับผลกระทบมากจากการแข็งค่าของเงินบาท

ฝีแตกผวาสู่สงครามโลก

ปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ สงครามในตะวันออกกลางที่มีทิศทางเลวร้ายและแย่ลง จากชาติมหาอำนาจ วางตัวไม่เป็นกลาง เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล ทำให้ข้อเรียกร้องหยุดยิงและให้ใช้แนวทางการเจรจาที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องไม่เคยสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้มองว่าหากสหรัฐ และชาติยุโรปยังให้การสนับสนุนอิราเอล ขณะที่อิหร่านก็มีพันธมิตรทั้งรัสเซีย จีน หากไม่มีใครหยุดใครได้ จะเป็นสเต็ปแรกของพัฒนาการนำไปสู่สงครามโลกได้

ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีความชัดเจนต่อท่าทีของประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งอียิปต์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดีอาระเบีย ต่อสถานการณ์ในครั้งนี้ จะอยู่นิ่งหรือตัดสินใจอย่างไร ขณะที่สงครามส่อบานปลายกลายเป็นสงครามในภูมิภาค

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ถามว่าพัฒนาการของสงครามนับจากนี้จะเป็นอย่างไร มองว่าจะเป็นไปในทิศทางที่เลวร้าย และแย่ลง เพราะผู้เล่นสำคัญคือสหรัฐยังเข้าข้างอิสราเอล ขณะที่ยูเอ็น และศาลโลกเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่สามารถห้ามปราม หรือตัดสินอะไรได้ สถานการณ์ ณ เวลานี้คงจบยาก เพราะฝีมันแตกแล้ว”

สำหรับผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้ หากการตอบโต้ของอิสราเอลกับอิหร่านทวีความรุนแรงขึ้นแบบไม่มีใครยอมใคร จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก อย่างแน่นอน เพราะทิศทางสถานการณ์จะส่งผลให้ราคาน้ำมัน ค่าการขนส่ง และเงินเฟ้อทั่วโลกกลับมาสูงขึ้น ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไม่ว่ากมลา แฮร์ริส หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ สงครามก็คงไม่สงบลงเพราะแฮร์ริส และทรัมป์ยังให้น้ำหนักในการสนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นจึงยังไม่เห็นสัญญาณว่าโลกจะสงบสุข

ทุบส่งออกไทย 2.5 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม คาดสงครามจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลาง(15 ประเทศ)ในปีนี้ จะปรับตัวลดลงที่ระดับ 0.5-0.6% จากปีที่ผ่านมา (ปี 2566 ไทยส่งออกไปตะวันออกกลาง 393,481 ล้านบาท หากปรับลดลง 0.5-0.6% ตัวเลขปีนี้จะลดลง 1,967-2,360 ล้านบาท) ซึ่งหากรวมกับรายได้การส่งออกที่จะหายไปจากเงินบาทที่แข็งค่าตามที่ กกร.ประเมินสูงสุดไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท บวกผลกระทบจากสงครามที่จะทำให้การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางหายไปอีกกว่า 2,000 ล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 2.52 แสนล้านบาท

“สาเหตุที่การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางลดลงไม่มากตลอดทั้งปีนี้ จะลดลงประมาณ 0.5-0.6% เพราะจะถูกชดเชยโดยภาพรวมของการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม เพื่อใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ ในช่วงปลายปี แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือหากสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ส่งออก และการส่งมอบสินค้าอาจมีความล่าช้า จากความไม่ปลอดภัยต่อสถานการณ์”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 -9 ตุลาคม พ.ศ. 2567