ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 3ต.ค“อ่อนค่าลง” ที่ระดับ 32.92 บาทต่อดอลลาร์

03 ต.ค. 2567 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 09:48 น.

ค่าเงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก ลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในคืนวันพฤหัส นี้ และในช่วงคืนวันศุกร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 3ต.ค 2567  ที่ระดับ  32.92 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น หลังเราได้ Call Bottom USDTHB ไปในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ เงินบาทยังได้อ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 32.85 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในต้นสัปดาห์

ทำให้ในเชิงเทคนิคัลเรามีความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้กลับมาเชื่อมั่นว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลือของปีนี้ จนไปถึงช่วงต้นปีหน้า

ซึ่งเรามองว่า ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในคืนวันพฤหัสฯ นี้ และในช่วงคืนวันศุกร์นี้ ที่จะมีรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยหากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงต่อทะลุโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ก็อาจเผชิญโซนแนวต้านแถว 33.15-33.20 บาทต่อดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งเรามองว่า ความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวอาจใช้เวลาหลายวัน จนถึงระดับ 1-2 สัปดาห์ได้ ถึงจะเริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ต้องจับตาท่าทีของทางการอิสราเอลในการตอบโต้ การโจมตีรอบล่าสุดจากทางอิหร่าน

นอกจากนี้ เรามองว่า ในช่วงระยะสั้น เงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบลดสถานะ Net Long บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ (มองสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น) อีกทั้ง เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วน

อาทิ ผู้ส่งออกอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้โซนแนวต้าน เช่น เหนือโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อนึ่ง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในอัตราไม่ต่างกับวันก่อนหน้า หรือ อย่างน้อยวันละ 5 พันล้านบาท ก็อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องได้มากกว่าที่เราประเมินไว้ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านถัดไป 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เนื่องจากภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทำให้หากภาคการบริการมีแนวโน้มชะลอตัวลงหนักกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเชื่ออีกครั้งว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ไม่ยาก

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.20 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง หลังเราได้ call bottom USDTHB ไปในวันก่อนหน้า (กรอบการเคลื่อนไหว 32.73-32.95 บาทต่อดอลลาร์)

ทว่าการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นก็ถือว่ามากกว่าที่เราประเมินไว้ โดยเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุทั้งโซนแนวต้านแรกแถว 32.65 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงวันก่อนหน้า ตามโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ (ขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ไทยเกือบ -9 พันล้านบาท)

ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากการปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดโดยผู้เล่นในตลาด ตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนกันยายน ที่เพิ่มขึ้นราว 1.4 แสนตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควร

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ตามแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด

ซึ่งยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง (มิเช่นนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้วได้)

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่ารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงอยู่

ทว่า สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +1.3% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่วน Tesla -3.5% ก็ปรับตัวลดลงแรง จากรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ที่ต่ำกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.01%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.05% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการทหาร อาทิ Shell +1.7%, BAE +2.0% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่

ทว่า ความกังวลดังกล่าวก็กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก กดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป   

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 3.80% ตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ยาก อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้เพิ่มเติม เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด

างด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยทั้งยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาดีกว่าคาด และความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์ในระยะสั้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.7 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าจะมีบางจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็ตาม โดยราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ตั้งแต่ รายงานยอดการเลิกจ้างงาน (Challenger Job Cuts) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน

พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังอยู่บ้าง ว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ 

ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่

โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนว 33.00 มาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.02-33.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.37 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องตามภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวน และ เงินเยน ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก

สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนจากข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ รายงานโดย ADP ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง (การจ้างงานของภาคเอกชน +143,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าตลาดคาดที่ +128,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจาก +103,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.)

ทั้งนี้ เงินเยนยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากวานนี้ หลังรมว. เศรษฐกิจของญี่ปุ่น นายเรียวเซ อากาซาวะ กล่าวว่า มีอีกหลายเงื่อนไขที่ BOJ ต้องพิจารณาก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ตลาดตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ BOJ ใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้ๆ นี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.90-33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนก.ย. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค.