‘สถานบันเทิงครบวงจร’นโยบายเรือธงนายกอิ๊งค์ คาดดึงลงทุนไทยแสนล้าน

20 ก.ย. 2567 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 07:13 น.

คลังยัน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ยังเป็นนโยบายหลัก“นายกอิ๊งค์” ดึงลงทุนไทย 1 แสนล้าน ลุ้นรัฐปรับเงื่อนไขใหม่ คาดเห็นเร็วสุดในปี 68 เอกชนหวั่นกระทบภาพลักษณ์ประเทศ  กฎต้องเข้มชัดเจน ป้องกันปัญหาสังคม

KEY

POINTS

  • รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนจากโครงการสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งคาดว่า จะสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 100,000 ล้านบาท 
  • การกระทรวงการคลังระบุว่า การเปิดสถานบันเทิงต้องมีการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาสังคมและการคอรัปชั่น
  • เอกชนหวั่น ผลกระทบทางสังคม ครอบครัว และภาพลักษณ์ของประเทศ  ต้องมีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน โดยเสนอให้ตั้งในเมืองรองเพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ

 

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคือ จะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.829 ล้านล้านบาทในปี 2566

ขณะเดียวกัน ยังจะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า และสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแหล่งเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลได้ทำการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อ แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 2-18 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากปิดประชาพิจารณ์กฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรหรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แล้ว จะมีการประชุมอีก 1-2 ครั้งของฝ่ายราชการ ซึ่งจากผลการทำประชาพิจารณ์ออกมาค่อนข้างดี มีประชาชนเห็นด้วยค่อนข้างมาก และมีข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“เราพร้อมที่จะนำข้อสังเกตมาปรับแก้ แล้วส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย ก่อนจะส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณากฎหมายใน 3 วาระ”นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์คาดว่า อย่างเร็วที่สุดจะเห็นได้ในปี 2568  ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของสภาฯ ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เราพร้อมรับฟังความคิดเห็นของรัฐสภาฯ ทั้งสส.และ สว.และเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาฯ ที่จะพิจารณากฎหมายว่ามีข้อดีข้อด้อยอย่างไร เพื่อนำมาซึ่งการป้องกันผลกระทบต่อคนไทย

“ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะลงทุนกี่จุด และเป็นใครที่จะมาดำเนินการ เพราะคณะกรรมาธิการในสภา และกระทรวงการคลัง ไม่ได้มีหน้าที่จะตัดสินใจว่าควรจะเป็นใคร จังหวัดใดที่มีความเหมาะสมที่จะสร้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องมีความโปร่งใสทุกประการ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเดินหน้าโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ยังเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความเห็นของประชาชน ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อรวบรวมประชุมคณะกรรมการ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากโครงการดังกล่าวเดินหน้าสำเร็จ จะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลต้องมีข้อกำหนดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการมอมเมาประชาชน

“เดิมร่างกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจสถานบันเทิงอย่างน้อย 4 ประเภทร่วมกับกาสิโน โดยต้องตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนด และดำเนินการโดยบริษัทที่จดทะเบียนในไทยซึ่งมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท รายละเอียดเหล่านี้ จะต้องมาดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่”

ขณะที่หลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับผู้จะเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงครบวงจรได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี คนที่มีสัญชาติไทยจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และมีการชำระค่าธรรมเนียมก่อนเข้าใช้บริการจะคิดค่าใบอนุญาตในปีแรก 5,000 บาท และต่ออายุปีละ 1,000 บาท

ส่วนผู้ที่จะเข้าใช้บริการกาสิโนที่มีสัญชาติไทยต้องเสียค่าเข้าบริการอีกครั้งละ 5,000 บาท ส่วนนี้ยังต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมอย่างไรบ้าง

 หวั่นกระทบภาพลักษณ์ประเทศ

ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่ราวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ เพราะมองว่า จะส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชนและภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะปัญหาการพนัน ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลเสียต่อครอบครัวและเศรษฐกิจของประเทศ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย

รวมถึงความไม่เท่าเทียม เพราะผู้ได้รับประโยชน์จากการเปิดเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์จะเป็นกลุ่มนักลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของประชากร ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องแบกรับผลกระทบด้านลบ เช่น การเสพติดการพนัน ปัญหาหนี้สิน และอาชญากรรมที่อาจตามมา และความไม่พร้อมของประเทศไทยที่ยังไม่มีระบบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งพอ

 สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยดูเป็นประเทศที่ส่งเสริมการพนัน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ

 “ในฐานะประชาชนและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอาหาร ก็มีความห่วงกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาทางสังคมที่ตามมา อาทิ การพนัน การค้าประเวณี ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศและชุมชน” นางฐนิวรรณกล่าว 

ต้องชัดเจน ป้องกันปัญหาสังคม

ด้านนายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารกล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นชอบการมีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ หากสามารถผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ แต่ต้องมีกฎหมายควบคุมที่เข้มข้นและชัดเจน เพราะการที่จะนำภาษีใต้ดินขึ้นมาบนดินนั้น ต้องมีความชัดเจนของข้อกฎหมายว่าจะนำภาษีนั้นไปใช้ประโยชน์กับประเทศอย่างไร และรัฐต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า ภาษีนั้นถูกใช้อย่างถูกต้องไม่มีปัญหาเรื่องของการคอรัปชั่น

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

 “พื้นที่ในการสร้างนั้นอยากให้ปักหมุด “เมืองรอง” แทนที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยงหลักอย่าง กรุงเทพฯ หรือ ภูเก็ต เนื่องจากนโยบายเน้นเรื่องการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ดังนั้นต้องกระจายไปยังเมืองที่ไม่ใช่แลนด์มาร์ก เพื่อสร้างความเจริญใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ และต้องออกกฎหมายควบคุมให้ชัดเจนว่า คนไทยเข้าได้หรือไม่ เช่นในประเทศเกาหลี จะห้ามคนเกาหลีเข้าเด็ดขาด เผื่อป้องการปัญหาทางสังคม อาชญากรรมต่างๆ ที่ตามมา”

อย่างไรก็ดี การเปิดคาสิโนถูกกฎหมายเป็นประเด็นที่สร้างความเห็นแตกต่างในสังคม ทั้งในแง่ของประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสังคม รัฐบาลจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะตัดสินใจ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567