ผู้ว่าธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยต้องเลิกล่าตัวเลขจีดีพี

13 ก.ย. 2567 | 16:01 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 16:01 น.

ผู้ว่าธปท.แนะ เลิกล่าตัวเลขจีดีพี เศรษฐกิจไทยต้องโตแบบสะท้อนความเป็นอยู่ประชากรมากกว่าเน้นตัวเลขจีดีพี แนะปรับโครงสร้าง ลดการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ กระจายการเติบโตไปสู่ท้องถิ่นที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่กว่า สร้างความเข้มแข็งยั่งยืน

KEY

POINTS

  • เศรษฐกิจไทยช่วง 10ปี กระจุกตัวธุรกิจขนาดใหญ่ มีรายได้สูงขึ้น ส่วนธุรกิจรายใหม่มีอัตราการล้มละลายสูงขึ้น อัตราการเติบโตของจีดีพีมีแนวโน้มชะลอตัว 
  • เศรษฐกิจไทยไม่ควรเน้นที่การล่าตัวเลขจีดีพีอีกต่อไป แต่ควรให้ความสำคัญกับการสะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น
  • การเติบโตควรมุ่งไปที่การพัฒนาท้องถิ่น เพื่อกระจายการเติบโต แต่ท้องถิ่นต้องมีความสามารถในการแข่งขันระดับสากล 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ “สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand” ว่า ประเทศไทยจะโตแบบเดิมไม่ได้ จะต้องหารูปแบบการเติบโตทีใหม่ที่ต่างจากที่เคยเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตจากท้องถิ่น โดยมี 3 เรื่องที่สะท้อนว่า จะเติบโตไม่ได้ คือ

ผู้ว่าธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยต้องเลิกล่าตัวเลขจีดีพี

  1. กว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมไม่สะท้อนไปสู่ความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร  ขณะเดียวกัน ยังพบว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้าง ประชากร
  2. ในแง่ของธุรกิจพบว่า รายได้กระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยพบว่า สัดส่วน 5% ของธุรกิจมีรายได้สูงกว่า 89-90% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ที่ระดับ 84-85% ขณะที่ธุรกิจรายใหม่อยู่รอดยากขึ้น และยังพบว่า คนตัวเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการ เลิกกิจการเร็วขึ้น
  3. บริบทโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ไทยจะพึ่งโลกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ เช่น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตัวเลข FDI ระหว่างปี 2544-2548 อินโนนีเซียเคยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 0.07% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.39% เวียดนามจากเดิม 0.16% เพิ่มเป็น 1.01% มาเลเซียจาก 0.32% เป็น 0.83% ขณะที่ไทยจากเดิมอยู่ที่ 0.57% มาอยู่ที่ 0.63% เท่านั้น  

ประเทศไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม

“ช่วงปี 2544-2548 ไทยมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 0.57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน FDI ของไทยค่อนข้างทรงตัว (Flash) ในทางกลับกันเวียดนามและอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่าไทยจะนั่งเพื่อรอ FDI เข้ามาไม่ได้แล้ว เพราะไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม”

แม้ว่า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาสะท้อนว่า จะทำแบบเดิมไม่ได้ ไทยมีเสน่ห์ในเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ต้องปรับตัว ออกแรงมากขึ้น และจะพึ่งพาต่างชาติเหมือนเดิมไม่ได้ จำเป็นต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในมากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลข จีดีพี ล่าตัวเลขการลงทุนต่างๆ เพราะท้ายที่สุดที่แคร์คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของ ประชาชน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น ตัวเลขที่ควรล่าคือ ตัวเลขที่สะท้อนชีวิต ความเป็นอยู่ ทั้งเรื่องรายได้ ความมั่งคั่ง หรือตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน เราทราบดีว่า ล่าตัวเลขยังไงก็ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่ผ่านมา เท่าที่ควร การพึ่งการเติบโตที่กระจุกอยู่ไม่กี่ที่ไม่ยั่งยืน ต้องทำให้เข้ม แข็งกว่าเดิม เติบโตในฐานที่กว้างขึ้น”

สำหรับไทยต้องโตแบบเน้นท้องถิ่นมากขึ้น more local มากขึ้น โดยมีเหตุผลหลักคือ

  • ประชากรราว 80% ของประเทศ อาศัยอยู่นอก กรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • ธุรกิจจำนวนเกือบ 80% ก็อยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • อัตราการเติบโตจีดีพี ของกรุงเทพฯ ต่อหัวประชากรเพียง 0.22%

โตแบบเน้นท้องถิ่น ต้องโตแบบแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม การโตแบบเน้นท้องถิ่น ต้องโตแบบแข่งขันได้ และต้องมีความเป็นสากล competitive ไม่เช่น นั้นจะเป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะท้องถิ่นมีความท้าทายหลายด้าน ทำให้ แข่งขันได้ยาก

เช่น คนในท้องถิ่นกระจายตัว ไม่ได้กระจุกตัวเหมือนในกรุงเทพฯ ธุรกิจท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็น ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 90% ของผู้ประกอบการในท้องถิ่นเป็นรายย่อย และมีภูมิศาสตร์และ วัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้เศรษฐกิจและการเติบโตไม่กว้างและไม่ยั่งยืน

ผู้ว่าธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยต้องเลิกล่าตัวเลขจีดีพี

ทั้งนี้ วิธีการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้จะต้องมี 5-6 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

  1. เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น
  2. สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่นและเอกลักษณ์
  3. ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win 4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ
  4. ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่ใช้จากส่วนกลางแบบ One Size Fits All จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์
  5. สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดีคือเวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุนและอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

“สุดท้ายรูปแบบการเติบโตเปลี่ยนไป ออกไปในเชิงท้องถิ่นสากลมากขึ้น สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็น Inclusive ทำให้การเติบโตยืดหยุ่นและทนท้าน หรือ Resiliency จะเป็นการเติบโตแบบกว้างมากขึ้น โดยจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น จะช่วยอัพนโยบายต่างๆ ทั้งความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดการเติบโตยั่งยืน"