คลังเปิดตัว"อารีย์ สกอร์" ใช้คะแนนกู้เงิน 4 แบงก์รัฐ

13 ก.ย. 2567 | 05:45 น.

คลังเตรียมเปิดตัว “อารีย์ สกอร์” ให้คะแนนเครดิตรายย่อย-เอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อง่าย ผ่าน 4 แบงก์รัฐ เปิดทางคนติดแบล็คลิสเครดิตบูโรกู้ได้ คาดแล้วเสร็จใน 3 เดือน เอกชนจี้เร่งดำเนินการก่อนหนี้เสียแตะทะลุ 9 แสนล้านบาท 

KEY

POINTS

  • หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 14.19 ล้านล้านบาท (84.1% ของ GDP) ในปี 2562 ก่อนโควิด-19 เป็น 16.37 ล้านล้านบาท (90.8% ของ GDP) ในปัจจุบัน
  • ภาครัฐมีนโยบายเร่งด่วนในการปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงการเข้าถึงสินเชื่อและการช่วยเหลือทั้งในและนอกระบบ
  • กระทรวงการคลังจะเปิดตัวระบบ “อารีย์ สกอร์” ภายใน 3 เดือน เพื่อให้คะแนนเครดิตรายย่อยและเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงสินเชื่อจาก 4 ธนาคารรัฐ

 

ระดับหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากระดับ 14.19 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 84.1%ต่อจีดีพีเมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 16.37 ล้านล้านบาทคิดเป็น 90.8% ของจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง 2.18 ล้านล้านบาทหรือ 15.36%  ทำให้รัฐบาลตต้องตั้งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 

คลังเปิดตัว\"อารีย์ สกอร์\" ใช้คะแนนกู้เงิน 4 แบงก์รัฐ

โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญา ที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้แสดงวิสัยทัศน์ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านเกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือนคือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินู(FIDF)ลง ครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันที่นำส่งในอัตรา 0.46%ของเงินฝาก เพื่อให้นำเงินอีกครึ่งหนึ่งไปช่วยเหลือลูกหนี้ 

ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)ของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลซื้อหนี้กลับมาบริหารเอง โดยให้ราคาส่วนลด 50% จากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งสำรองครบ 100% แล้วเมื่อขายหนี้ออกมาก็จะสามารถตีกลับเป็นกำไรในทางบัญชีได้อีก 50% 

คลังเตรียมจัดทำจัดทำ “อารีย์ สกอร์”

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางแก้ไขหนี้ประชาชน โดยจะมีการจัดทำ “อารีย์ สกอร์” ซึ่งเป็นการทำเครดิตสกอริ่ง หรือ คะแนนเครดิต จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังมี คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอีในการเข้าถึงสินเชื่อได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง  

“ก่อนหน้า กระทรวงการคลังได้จัดทำโครงการแก้ไขหนี้ข้าราชการกว่า 2 ล้านคนไปแล้วผ่านธนาคารกรุงไทย ซึ่งยอมรับว่า การแก้ไขหนี้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนไม่ใช่เรื่องง่าย"

อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ผ่าน “อารีย์ สกอร์” เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ  ซึ่งไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันกับสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะจัดทำเครดิตสกอริ่งให้กับทุกคน เพื่อให้ใช้เครดิตสกอริ่งไปขอสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ 4 แห่ง ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ใช้เครดิตบูโร ทำให้คนที่ติดแบล็คลิสเครดิตบูโรสามารถใช้เครดิตสกอริ่งขอสินเชื่อแทนได้ โดย ธนาคารรัฐ 4 แห่งคือ

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) 

ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีข้อมูลของคนไทยอยู่แล้ว 60 ล้านคนที่จัดเป็น Balance Sheet เช่น มีทรัพย์สินเท่าใด รายได้เท่าไหร่ และรับสวัสดิการของรัฐอย่างไร ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด รวมทั้งจะดูคะแนนเครดิตของประชาชนจากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อมาจัดทำเป็นคะแนนเครดิต 

 “คณะทำงานคาดว่า จะจัดทำเสร็จภายใน 3 เดือน เพราะจะนำระบบเอไอมาใช้และดำเนินการผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง อย่างคนที่มีคะแนน 8 เต็ม 10 ก็สามารถขอกู้สินเชื่อได้เลย 30,000 บาท ทำให้ประชาชนสามารถกู้เงินในระบบ เพื่อไปรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบได้ อย่างน้อยภาระการผ่อนของประชาชนจะลดลง” 

ขณะเดียวกันจากข้อมูลประชาชนที่กระทรวงการคลังมีนั้น หากรัฐบาลจะดำเนินการใช้ระบบ Negative Income Tax ก็สามารถดำเนินการได้เลย จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เสียภาษี รวมทั้งประชาชนที่รับสวัสดิการจากภาครัฐด้วย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลประวัติชำระภาษี การยื่นแบบแสดงเงินได้บุคคลธรรมดา มาต่อยอดข้อมูลในการจัดทำเครดิตสกอริ่งได้ด้วย 

หนุนใช้ระบบ Negative Income Tax

นอกจากนั้น ระยะต่อไปกระทรวงการคลังจะจัดทำนโยบายในเชิงพื้นที่ ซึ่งสามารถทราบได้เลยว่า ในพื้นที่จังหวัด ตำบล หรืออำเภอนี้ มีความเข้มแข็งขนาดไหน หรือมีสิ่งที่ขาด ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ฉะนั้น ระยะต่อไปกระทรวงการคลังจะเห็นภาพชัดในการดูแลประชาชน

“กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้ศึกษาเรื่อง Negative Income Tax มานานแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนแนวคิด เพื่อที่จะให้เงินสวัสดิการแก่คนทำงาน หรือ Workfare สำหรับคนรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยเป็นการกระตุ้นให้คนทำงาน เพื่อแลกกับการได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ” นายลวรณกล่าว 

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถนำ Negative Income Tax มาใช้ได้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐลงได้ และยังสามารถลดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 20 สวัสดิการ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ในแต่ละปีใช้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การใช้ Negative Income Tax จะไม่เป็นการสร้างภาระงบประมาณด้านสวัสดิการเพิ่ม เพราะหากใช้ระบบนี้อาจจะไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว 

ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลังที่ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านมาตรการสินเชื่อต่างๆ 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 -29 ส.ค.67 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 17,448 ราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 812 ล้านบาท 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)  

ขณะที่ผลการดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ล่าสุด สิ้นเดือนส.ค.67 มีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,142 ราย ใน 75 จังหวัด และในสิ้นเดือนมิ.ย.67 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยสะสมทั้งสิ้น 4.44 ล้านบัญชี รวมเป็นวงเงิน 43,212 ล้านบาท 

AMC หนุนตั้งกองทุนรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับแคปปิตอลจำกัด(มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMCA)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขนาดของหนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาทนั้น ต้องระวังตัวเลขหนี้เสียที่อาจจะขยับขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3%หรือกว่า 5 แสนล้านบาท หากแนวโน้มจะขยับเป็นอัตรา 4-5% ก็ร่วมประมาณ 9 แสนล้านบาทหรือ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเลขที่ตลาดเฝ้าดูอยู่ 

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับแคปปิตอลจำกัด(มหาชน)และในฐานะ นายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMCA)

ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมารับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นมองว่า อาจจะใช้เงินกองทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เพื่อดึงหนี้ด้อยคุณภาพออกมาบริหารจัดการ

"หนี้ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับสูง ค่อนข้างพอเพียงอยู่แล้ว แตกต่างจากความเสียหายที่ค่อนข้างรวดเร็วมากเมื่อวิกฤติปี 2540 ซึ่งหนี้เสียส่วนใหญ่มีกันสำรองไม่เพียงพอ"  

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ “กองทุนบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ”ที่จะจัดตั้งขึ้นนั้น ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ส่วน AMC ภาคเอกชนนั้น ส่วนตัวมองว่า ส่วนใหญ่ต่างมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นภาระค่อนข้างสูงอยู่แล้ว 

ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นั้น ควรต้องมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำหรือซอฟต์โลนออกมา เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหนี้ด้อยคุณภาพเป็นเรื่องความทุกข์ยากของลูกหนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเมื่อเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของกรมบังคับคดีต้องหาทางแก้ไขให้เร็ว โดยในทางปฏิบัติ มีข้อเสนอ 3เรื่องได้แก่ 

  1. กองทุนรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพบริหารจัดการนั้น โดยความร่วมมือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรืออาจจะลงขันระหว่างสถาบันการเงินหรือสมาคมธนาคารไทย
  2. ภาครัฐต้องมีส่วนในการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะการล้มละลายของบุคคลธรรมดา คือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว เพื่อร่นระยะเวลาให้บุคคลธรรมดาที่ล้มละลาย กลับมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นภายใน 1-2ปี จากปัจจุบันใช้เวลา 3ปี หรือ พิจารณาปรับปรุงบุคคลล้มละลาย เช่น ข้าราชการเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ ในแง่กฎหมายควรจะปรับแก้ประเด็นนี้
  3. ปรับปรุงกระบวนการของกรมบังคับคดีให้เพิ่มประสิทธิภาพให้รวดเร็วขึ้นได้อีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ และระบบเศรษฐกิจภาพรวม ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ กรณีการขายทอดตลาด  การอายึด-ยึดทรัพย์จะใช้เวลาน้อยกว่าไทย เช่น สหรัฐอเมริกาใช้เวลาแค่ 2ปี   มาเลเซียใช้เวลา 4ปี แต่เมืองไทยใช้เวลา 7-8ปี  ซึ่งในความเป็นจริงกระบวนการขายทอดตลาดยิ่งล่าช้ายิ่งทำให้ลูกหนี้เสียหายเพราะภาระจะตกอยู่กับลูกหนี้

“ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการหนี้ก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ควรคำนึงถึงการรักษาไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องวินัย คือ คนเป็นหนี้เสียต้องได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเพื่อมิให้ลูกหนี้ดีเสียวินัย"นายสุชาติกล่าว

ขณะที่ธุรกิจบริหารหนี้ของไทยนั้นปัจจุบันมีผู้เล่นเข้ามาหลายรอบเข้าประมูลแข่งขันด้านราคา ข้อดีมีกลไกทำให้ระบบทำงานและแข่งขันกันได้แต่โอกาสทำกำไรขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการ

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567