รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คลังแนะทำเป็นเฟสที่พร้อม

12 ก.ย. 2567 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 17:14 น.

คลังชี้ตั้งกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า เดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสาย คล้ายรูปแบบการระดมทุนคล้าย TFFIF คาดใช้เงิน รฟม. เป็นทุนประเดิม แนะดำเนินการแบบเฟสที่มีความพร้อม แก้ปัญหาเคลียร์เอกชนไม่ลงตัว

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมาคือ แนวคิดการเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารกลับมาเป็นของรัฐแล้วจ้างเอกชนบริหาร เพื่อสามารถำหนดราคาค่าโดยสารเอง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อมาบริหารจัดการค่าตั๋วโดยสาร ตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

สอดคล้องกับนโยบายของ“รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร”ที่จะผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

 

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า หลักการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) จะนำกระแสเงินสดของรายได้มาจัดตั้งกองทุน อาจจะจดทะเบียนหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นรูปแบบคล้ายกับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF)

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คลังแนะทำเป็นเฟสที่พร้อม

คือ ระดมทุนจากประชาชน โดยนำเอากระแสเงินสดจากรายได้ค่ารถไฟฟ้า มาคืนผลตอบแทนให้กับประชาชน และนำเงินจำนวนดังกล่าวนี้ มาซื้อคืนรถไฟฟ้าบางสาย เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดราคาตั๋วตลอดสายได้  

 

“การตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อาจต้องมีทุนประเดิม ซึ่งหลักการจะมีเม็ดเงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อาจจะนำรายได้ของปีล่าสุดมาเป็นทุนประเดิม และระดมทุนจากประชาชน แล้วนำเงินไปซื้อคืนสัญญาบริหารรถไฟฟ้า โดยจะมีขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมาย สามารถทำได้ไม่น่ายาก”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ราคา 20 บาทตลอดสาย มีสายสีม่วงและสายสีแดงที่ีรัฐสามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญาเป็นรูปแบบ Gross Cost คือ รัฐรับผลประโยชน์แล้วจ้างเอกชนเดินรถ ส่วนที่เหลือเป็นรถไฟฟ้าสัมปทานรูปแบบสัญญา Net Cost โดยเอกชนรับรายได้ และแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐ แต่หากจะแก้สัญญาให้เป็นรูปแบบรัฐรับผลประโยชน์ และเราจะจ้างเอกชนในรูปแบบ Fixed Bonus ต้องแก้ไขสัญญาก่อน 

“ก่อนที่รัฐจะซื้อคืนรถไฟฟ้า ต้องไปแก้ไขสัญญาก่อนและยังจ้างเขาเหมือนเดิม ส่วนต่างที่เอกชนหายไป รัฐจะไปซื้อคืน ฉะนั้นในหลักการรายได้ของเอกชนจะไม่ได้หายไปทั้งหมด เช่น เดิมเอกชนมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อแก้ไขสัญญา รายได้อาจจะหายไป 7,000 ล้านบาท ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องระดมทุนเพื่อไปซื้อคืน แม้รายได้จะลดลงแต่เอกชนจะไม่มีความเสี่ยง เพราะรัฐจ่ายเงินให้คงที่ทุกปี จากเดิมที่มีรายได้ตามผู้ใช้รถไฟฟ้า ซึ่งมีความเสี่ยง” 

จุดที่ท้าทายคือ การแปลงสัญญาของรถไฟฟ้าสายหลักที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมากอย่างสายสีเขียว ซึ่งจะต้องหาข้อตกลงร่วมกัน และยังมีรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่มีเอกชนที่ดูแลรวม 3 เจ้าและมีสัญญาสัมปทานอยู่กว่า 7-8 สัญญา 

ฉะนั้น เพื่อให้นโยบายสามารถทำได้จริง ควรจัดทำตั๋วราคา 20 บาทตลอดสายเป็นระยะๆ ไปก่อน เช่น บริษัทไหนมีความพร้อมสามารถเข้าร่วมก่อนได้ เพราะหากรอทุกสายมีความพร้อมมองว่า เป็นเรื่องที่ยาก  แต่หากสามารถทำได้จริง ระยะยาวจะดีขึ้น เพราะประชาชนไม่ต้องมานั่งขับรถ ลดปัญหาเรื่องที่จอด และช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567