ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้2ก.ย. “อ่อนค่าหนัก” ที่ระดับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์

02 ก.ย. 2567 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2567 | 09:38 น.

ค่าเงินบาทและเงินดอลลาร์มีความเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง ควรติดตามมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน สถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศส ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาทั้งทองคำและน้ำมันดิบ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้2ก.ย.  2567  ที่ระดับ  34.08 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.88 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์

กดดันโดยส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น หลังบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.90%

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้น 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด ทว่าเงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออก และจังหวะซื้อสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ พร้อมจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด BOE และ ECB

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing and Services PMIs) เดือนสิงหาคม รวมถึง ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เป็นพิเศษ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ได้สะท้อนว่า เฟดได้ให้ความสำคัญต่อภาวะตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มากขึ้นชัดเจน

โดยเรามองว่า ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ดังกล่าวจะสะท้อนถึงโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยราว -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน และโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ โดยหากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.6 แสนตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานก็ลดลงสู่ระดับ 4.2% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หรืออาจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

ในทางกลับกัน หากยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่า หรือใกล้เคียง 1 แสนต่ำแหน่ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% หรือสูงกว่า ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงคาดหวังว่า เฟดต้องเร่งลดดอกเบี้ย และอาจกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ไม่ยาก ซึ่งในภาพดังกล่าว เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลง ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ อาจเผชิญแรงขายพอสมควร

▪ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึง รอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง ECB และ BOE

ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว 2-3 ครั้ง ส่วน BOE ก็อาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1-2 ครั้ง ในปีนี้ และนอกเหนือจากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสม

รวมถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรียังไม่เป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าการเลือกตั้งจะจบลงไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม โดยเราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส อาจเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดทุนฝรั่งเศส และอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของจีนในเดือนสิงหาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยดัชนีดังกล่าวจะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรดาธุรกิจขนาดเล็ก-กลางเป็นหลัก พร้อมกันนั้น

ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ส่วนในฝั่งนโยบายการเงินนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามเดิม

ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ว่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มความต้องการบริโภคในประเทศ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือนสิงหาคม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง แต่ก็มีความเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

นอกจากนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งมีผลกับทิศทางเงินบาทได้เช่นกันในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ซึ่งจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ควรจับตา สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก เช่น ECB และ BOE ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสกุลเงินหลัก ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.13-34.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.35 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทอ่อนค่ากลับมา (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวัน ศ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา) สอดคล้องกับหลายๆ สกุลเงินในเอเชีย และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

โดยมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% (Probability ของการลด 0.50% ปรับลดลง) ในการประชุม FOMC เดือนก.ย.นี้ หลังจากที่ข้อมูลเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาด  (US PCE Price Inflation +2.5% YoY ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ +2.6% YoY

และทรงตัวจากระดับ +2.5% YoY ในเดือนมิ.ย. ส่วน Core PCE Price Inflation +2.6% YoY ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ +2.7% YoY และทรงตัวจากระดับ +2.6% YoY ในเดือนมิ.ย.) ทั้งนี้ เงินเยนและเงินหยวนไม่ได้รับแรงหนุนมากนักแม้ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. จะออกมาดีกว่าที่คาดก็ตาม

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก รวมถึงตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. ของอังกฤษ และยูโรโซน