ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้28ส.ค. “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์

28 ส.ค. 2567 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 09:51 น.

ค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ช่วงปลายเดือน โฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบมองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้28ส.ค. 2567 ที่ระดับ  33.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.07 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น

ทว่า เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของ Nvidia รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนมากนัก จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยดังกล่าว

ซึ่งในส่วนของผลประกอบการของ Nvidia นั้น เรามองว่า มีความเสี่ยงพอสมควรที่ ราคาหุ้น Nvidia อาจปรับตัวลดลงได้ หากบริษัทไม่ได้ให้คาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต (Earnings Guidance) ที่แข็งแกร่งอย่างที่ตลาดคาดหวัง

แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะโตได้ตามที่ตลาดคาดหวัง หรือ อาจจะดีกว่าคาดก็ตาม ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ที่อาจเห็นแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor ในวันพฤหัสฯ นี้

ส่วนปัจจัยหนุนเงินบาท อย่างราคาทองคำนั้น เรามองว่า ราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนการปรับตัวขึ้นเพิ่มเติม ทำให้มีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจมีจังหวะย่อตัวลงได้บ้าง จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ

อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและเสี่ยงบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาค (ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นภาพดังกล่าว แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงนี้)

อีกทั้งในช่วงปลายเดือน เรามองว่า เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนอยู่ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น ก็อาจหนุนให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเข้ามากดดันเงินบาทได้เช่นกัน ทำให้ การแข็งค่าของเงินบาทอาจจำกัดแถวโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมในวันที่ 6 กันยายน นี้ ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ

การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.89-34.14 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงออกมาผสมผสาน

โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนสิงหาคม ที่แม้จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด ดีกว่าคาดพอสมควร ทว่าในผู้บริโภคต่างกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น จากรายงานข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวลงชัดเจนในเดือนกรกฎาคม

ซึ่งภาพดังกล่าวยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้อานิสงส์จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็ปรับตัวขึ้นตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของ Nvidia +1.5% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon -1.4% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.16% โดยตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุน จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร นำโดย Banco Santander +2.5% หลังประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนในมูลค่าราว 1.5 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ได้กดดันบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ Hermes -2.7%, LVMH -1.8% และกดดันตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีการปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.86% ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.82% หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสานนั้น อาจยังคงทำให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยราว -100bps

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีลักษณะแกว่งตัว sideways ในกรอบ

โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ ทั้งรายงานผลประกอบการของ Nvidia และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.5-100.9 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 2,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Nvidia (ตลาดรับรู้ในช่วง After Market Close) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของบรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor และบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

เนื่องจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาหุ้น Nvidia ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ Nvidia มีน้ำหนักเกิน 6% บนดัชนี S&P500 นอกจากรายงานผลประกอบการของ Nvidia ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันโดย EIA ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบได้ในระยะสั้น

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด และ BOE

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.94-33.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.45 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ประกอบกับทางการจีนประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนในระดับที่แข็งค่ากว่าวันทำการก่อนหน้า

ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนใหม่ๆ และกลับมาอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เฟดติดตามซึ่งมีกำหนดจะรายงานออกมาในวันศุกร์นี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด