แบงก์ผวา ลูกหนี้ปรับโครงสร้าง เริ่มค้างจ่ายอื้อ

02 ส.ค. 2567 | 18:30 น.
6.1 k

แบงก์เข้มสินเชื่อขั้นสุด หลังลูกหนี้ปรับโครงสร้างเริ่มค้างชำระกระจายตัวแทบธุรกิจทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ โอดลูกค้าบางส่วนปฎิเสธการให้ความช่วยเหลือ แม้ทุกธนาคารยึดเกณฑ์ RL เข้าดูแลเร็วขึ้น ชี้สัญญาณน่าห่วง ทั้งเอ็นพีแอล SM ยังเพิ่มต่อเนื่อง 

KEY

POINTS

  • แบงก์เริ่มกังวลเกี่ยวกับลูกหนี้ที่เริ่มค้างชำระหนี้หลังจากการปรับโครงสร้าง โดยมีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Stage 2) ทั่วไปทั้งในกลุ่มธุรกิจรายเล็กและรายใหญ่
  • แม้แบงก์จะพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ตามเกณฑ์ RL โดยการติดต่อลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่บางรายไม่ตอบสนองหรือไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ธนาคารประสบปัญหาในการให้ความช่วยเหลือ
  • เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้กลุ่มลูกหนี้บางรายยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารมาก่อน
  • ครึ่งแรกปี 2567 พบว่า 10 ธนาคารพาณิชย์มีหนี้เอ็นพีแอลรวมเพิ่มขึ้น 5.63% จากปีก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 10.53% 

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยกระดับการบริหารจัดการในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้ประกาศเรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) หรือ “มาตรการ RL” ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม 

แหล่งข่าวระดับสูงจากสถาบันการเงินเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทุกแบงก์ช่วยลูหนี้ตามเกณฑ์ RL คือ ตราบใดลูกหนี้ให้ความร่วมมือ (รับโทรศัพท์ พูดคุบกับธนาคาร และบอกปัญหา ) แต่ปรา กฎว่า ส่วนหนึ่งลูกค้าปฎิเสธการให้ความช่วยเหลือ เข้าใจว่า ลูกค้าไม่มีกำลังที่จะจ่ายหนี้ให้กับธนาคารจึงหลบเลี่ยง จึงเป็นประเด็นยากที่จะให้ความช่วยเหลือ 

ลูกหนี้หลังปรับโครงสร้างเริ่มค้างชำระ

ขณะที่บางรายติดต่อไม่ได้ ซึ่งธนาคารก็ต้องดำเนินคดีคือ ความถี่ในการติดต่อลูกค้าทุกแบงก์ทำกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็เห็นความพยายามจากการที่ธปท.เข้าสุ่มตรวจ แต่ผลไม่สัมฤทธิ์เพราะลูกหนี้เองเป็นหลัก โดยยืนยันว่าตอนนี้ทุกธนาคารยังพยายามให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส2 และครึ่งแรกของปี 2567 พบว่า ลูกหนี้หลังปรับโครงสร้างเริ่มค้างชำระอีกแล้ว แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จึงมีสัญญาณน่าห่วงอยู่ เพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มลูกหนี้ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยพบว่า เริ่มมีวันค้างชำระที่กระจายตัวถ้วนหน้าทุกประเภทธุรกิจ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ 

รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างเคยให้ความช่วยเหลือมาแล้ว ตอนนี้แต่ละธนาคารให้ความเช่วยเหลือรวดเร็ว บางรายค้าง 1-2งวดหรือ 30วันก็เข้าไปช่วย ซึ่งแต่ละเดือนมีลูกหนี้เริ่มค้างมีปริมาณมากกว่าปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจังคือ รากหญ้ามีเงินกิน แต่ไม่มีกำลังจะไปทำอะไรต่อได้เลย 

“การลดปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยังมองไม่ออก เพราะหนี่งในวิธีการให้ความเช่วยเหลือคือ กระตุ้นให้สินเชื่อ โดยที่หนี้เก่าลูกหนี้ยังไม่มีกำลังจะผ่อนชำระ แต่มากระตุ้นให้กู้ก่อหนี้เข้าไปอีก”แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ไม่มีการควบคุมปัจจัยพื้นฐานให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน อาหารทุกอย่างแพงหมด แต่เรียกร้องสถาบันการเงินให้ปล่อยสินเชื่อ ส่วนตัวพูดได้เลยว่า ใครจะกล้า แบงก์ก็ต้องระมัดระวังสุดตัว เพราะสัญญาณหนี้เอ็นพีแอลและหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ(SM)หรือ Stage2 ยังเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งก็เข้าใจธปท.ทำอะไรได้ไม่มากกว่านี้แล้ว  

ยอดกันสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์

สำหรับผลดำเนินงานธนาคารจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ครึ่งแรกปี2567 พบว่า 10 ธนาคารพาณิชย์มีหนี้เอ็นพีแอลรวม 535,970.28 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28,573.92 ล้านบาทหรือ 5.63%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 507,396.36 ล้านบาท นำโดย

  • LHFG 7,639.7 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 38.36%
  • BAY 72,973  ล้านบาทเพิ่มขึ้น 32.99%
  • TISCO 5,696.58 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12.47%
  • KKP 17,442 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.74%
  • BBL 99,140 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.27%

ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) รวม 119,704.3ล้านบาทเพิ่มขึ้น 11,407.6ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 10.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 108,296.7 ล้านบาท  

3แบงก์ใหญ่มีค่าใช้จ่ายค่าเผื่อสูง

นอกจากนี้ บางธนาคารเปิดเผยข้อมูลสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under - performing) หรือ Stage2 ได้แก่

  • ธนาคารกรุงไทย 194,656 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 178,718 ล้านบาท(ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับรายการระหว่างตลาดเงิน เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ภาระผูกพันที่จะให้สินเชื่อและสัญญาค้าประกันทางการเงิน) ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับรายการระหว่างตลาดเงิน เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage Ratio 181.1% 
  • ธนาคาร กสิกรไทย Stage2 มีจำนวน 185,425 ล้านบาท ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 129,923 ล้านบาท
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ 205,927 ล้านบาท ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 153,798 ล้านบาท Coverage Ratio 161.7%
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา Stage2 จำนวน 165,930ล้านบาท ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(รวม) 91,501ล้านบาท 
  • ธนาคารทีทีบี Stage2 จำนวน 120,073 ล้านบาท ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 60,815 ล้านบาท
  • ธนาคาร กรุงเทพ มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 280,095 ล้านบาท

ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 282.5% สะท้อน 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(Domestic systemically Important bank: D-SIBs) มี ECL รวมกว่า 1,009,276 ล้านบาท

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,014  วันที่  1-3 สิงหาคม  พ.ศ. 2567