"ดอกเบี้ย"ขาลง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กดกำไรแบงก์ปี67

24 ม.ค. 2567 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 18:12 น.

ตลาดจับตากำไรแบงก์ไทยปี 67 ท่ามกลางดอกเบี้ยขาลง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กดหนี้เสียเพิ่ม ต้องเข้มปล่อยสินเชื่อ หลัง 10 แบงก์ บจ. ปิดงบปี 66 แม้ทำรายได้ดอกเบี้ยกว่า 1.1 แสนล้าน หนุนกำไรรวม 2.3 แสนล้าน แต่ต่ำกว่าตลาดคาด เหตุตั้งสำรองสูง

KEY

POINTS

  • ธนาคารพาณิชย์บจ.10 แห่ง รายงานผลประกอบการรอบปี 2566 พบว่า กำไรสุทธิรวม 2.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69%
  • รายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวม 7.26 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 110,337 แสนล้านบาทหรือ 17.89% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.09 แสนล้านบาท
  • ธนาคารส่วนใหญ่ ตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รวม 235,975 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 198,298 ล้านบาท 

ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)รายงานผลประกอบการรอบปี 2566 พบว่า กำไรสุทธิรวม 2.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวม 7.26 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 110,337 แสนล้านบาทหรือ 17.89% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.09 แสนล้านบาท

นำโดยธนาคารกรุงเทพ 1.30 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 28.0% รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% ตามด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยา 9.9 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 18.6% ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 2.2 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 16.8% ธนาคารไทยพาณิชย์ 15.6% ธนาคารแอลเอชเอฟจี  6,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% ธนาคารกสิกรไทย 11.6% และธนาคารทีทีบี 10.8%

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิธนาคารพาณิชย์

ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รวม 235,975 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 198,298 ล้านบาท นำโดยธนาคาร กรุงไทย ตั้งสำรอง ECL เพิ่ม 52.4% ตามด้วยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย 48.5% ธนาคาร กรุงศรี 33.6% ธนาคารไทยพาณิชย์ 28.9% ธนาคาร ทีทีบี 21% ธนาคาร เกียรตินาคินภัทร 20.8%

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับคุณภาพสินเชื่ออย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันธนาคารยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลพอร์ตสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ควบคู่อย่างใกล้ชิดและมีการอำนวยสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยเฉพาะตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดราย(เอ็นพีแอล) ที่ประกาศออกมามีจำนวน 5.02 แสนล้านบาท แม้ภาพรวมจะเป็นการปรับลดลงในอัตรา 0.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5.04 แสนล้านบาท โดยการปรับลดลงของเอ็นพีแอลยังคงเป็นไปภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร 

หลายธนาคารยังคงมีเอ็นพีแอลขยับเพิ่ม เห็นได้จาก ธนาคารแอลเอชเอฟจีเพิ่มขึ้น 20%  ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาและธนาคาร ทิสโก้เพิ่มขึ้น 14.1% ธนาคาร CIMB Thai และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้นในอัตรากว่า 5% เช่นกัน

นอกจากนี้ หากพิจารณา สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต( Stage2) หรือหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) ที่รายงานตัวเลขออกมาเฉพาะ  5 ธนาคารพบว่า Stage2 มีจำนวนกว่า 528,320 ล้านบาท ลดลงเพียง 421 ล้านบาทหรือ 0.079% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 528,741ล้านบาท

หากพิจารณาการปล่อยสินเชื่อพบว่า ยอดคงค้างของสินเชื่อรวม 14.44 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 91,893 ล้านบาทหรือขยับขึ้น 0.64% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท โดยธนาคารที่มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้แก่ ธนาคารทิสโก้ 7.2% ธนาคารแอลเอชเอฟจี 6.5%  ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 5.26% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 3.99% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 3.5% และธนาคารไทยพาณิชย์ 1.2%

ด้านเงินฝากยังหดตัว 0.0097% ซึ่งสะท้อนกลุ่มธนาคารมีความกังวลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลประกอบการธนาคารจดทะเบียนที่ออกมาในปี 2566 สะท้อนภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ที่จะออกมาในเดือนหน้า ซึ่งภาพรวมน่าจะคล้ายๆกันคือ แม้อานิสงส์ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่รายได้ค่าธรรมเนียมยังไม่ฟื้น เห็นได้จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของ 9 ธนาคารในรอบปีที่แล้วลดลง 1.97% จาก 1.57 แสนล้านบาทในปีก่อนเหลือ 1.54 แสนล้านบาทและปรับลดลง 6.74% เมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท เพราะยังต้องพึ่งเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ที่สำคัญ ธนาคารมีการตั้งสำรองฯ สูงมากกว่าตลาดประเมินไว้ เนื่องจากประเมินภาพเศรษฐกิจไม่ฟื้นเต็มที่ทำให้ความสามารถชำระคืนของลูกค้าไม่สมํ่าเสมอ จึงเป็นแรงกดันทั้งหรือ Stage2 Stage3 หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดราไยได้ (เอ็นพีแอล)

“บางธนาคารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินไล่หลังตามมา ขณะที่สินเชื่อยังไม่กลับมาขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการชำระคืน ขณะที่มองไปข้างหน้า ปี2567 เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวได้จำกัดและต้องติดตามแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากปีก่อน แต่แนวโน้มยังมีประเด็นกดดัน” นางสาวกาญจนากล่าว

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ สะท้อนการเดินหน้าธุรกิจหลักของภาคธนาคาร โดยให้นํ้าหนักกับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ แม้ปีนี้สินเชื่ออาจจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่ระดับการเติบโตยังจำกัดอยู่ในกรอบ 2.5-3.5% และยังมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) ขณะที่แรงหนุนต่อ NIM น่าจะมีน้อยลง  เนื่องจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะจบลงแล้วและต้นทุนเงินฝากเริ่มไล่หลังตามมา

“ปีนี้ต้นทุนทางการเงินกลับมาแล้ว โดยมองสินเชื่อจะเติบโตได้ แต่อยู่ในกรอบจำกัดที่ 2.5-3.5% และถ้าเศรษฐกิจฟื้นดี รายได้จากค่าธรรมเนียมอาจจะทะยอยกลับมา ในกรอบ 1.5-2% แต่เอ็นพีแอลยังเป็นประเด็นต่อ จึงยังจะเห็นแบงก์ดูแลลูกค้ามากขึ้น ภายใต้กรอบ RL และถ้าเศรษฐกิจกลับมาได้ก็มีโอกาสที่จะเห็นสำรองทรงตัวหรือลดลงจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นระดับสำรองที่สูงหากเทียบกับช่วงก่อนโควิด”นางสาวกาญจนากล่าว

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศ ไทย) จำกัดกล่าวว่า ไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารได้รับปัจจัยหนุนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวกจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นผลบวกต่อในปี 2567 เพราะอาจไม่สามารถคงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิไว้ในระดับสูง จากการที่ธปท.อาจจำเป็นต้อง “ลดดอกเบี้ย”และธนาคารพาณิชย์อาจต้องปรับลดตาม

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศ ไทย) จำกัด

ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์เป็นประเด็นที่เห็นชัดเจนในไตรมาส 4 สะท้อนทิศทางแย่ลงอย่างมาก ประกอบกับต้นทุนต่างๆปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะต้นทุนด้านเทคโนโลยี

 ดังนั้นแนวโน้มหลักของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2567 ยังต้องติดความความเสี่ยงหลัก 3 ปัจจัยคือ 1.ทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกทำท่าจะเป็นขาลงแล้ว จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนมุมมองจากคงที่ระดับสูงกลายเป็นจะปรับลดดอกเบี้ยปีนี้และไทยมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลง 2. เศรษฐกิจไทย หากเติบโตตํ่ากว่า 3% อาจจำเป็นให้ธปท.ต้องขยับลดดอกเบี้ยลงบ้าง และ 3.คุณภาพสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

 ส่วนตัวมองทิศทางดอกเบี้ยขาลงในครึ่งหลังปีนี้ และหากเศรษฐกิจขยายตัวตํ่า 3% มีโอกาสจะเห็นคุณภาพลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถผ่อนชำระได้ ทำให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยซํ้าสอง

 แต่หากมองด้านบวก ถ้าหลังจากมีการลดดอกเบี้ยลง หรือมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา พอลุ้นกำไรสุทธิอาจจะกลับมาบ้างในครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเพราะรอบปีที่แล้ว กลุ่มธนาคารตั้งสำรองไว้ค่อนข้างสูง ฉะนั้น ถ้าไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของเอ็นพีแอล น่าจะมีโอกาสได้เห็นตัวเลขกำไรรวมของธุรกิจธนาคารไทย น่าจะยืนได้เท่าปีที่แล้วเป็นอย่างตํ่า

 “ความเสี่ยงหลักต่อการทำกำไรของกลุ่มแบงก์คือ ทิศทางดอกเบี้ยไทยที่มีโอกาสปรับลดลงตามดอกเบี้ยโลก และคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสจะตกชั้นกลายเป็นเอ็นพีแอลถ้าเศรษฐกิจไม่ดี” นายจิติพลกล่าว

 ดร.จิติพลยังมีข้อสังเกตุเพิ่มเติมว่า หากดูจากต่างประเทศที่ผ่านมาเร็วๆนี้ จะเห็นธนาคารต่างประเทศเพิ่มรายได้ด้วยการปรับลดคนหรือลดสาขาต่างประเทศลง ซึ่งเป็นภาพปกติของภาคธนาคาร เมื่อเห็นเศรษฐกิจไม่ดี แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารไทยออกไปลงทุนต่างประเทศหรือขยายสาขาในต่างประเทศน้อย แต่ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้จะต้องศึกษาภาวะเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ออกไปขยายสาขาหรือลงทุนไว้ก่อนหน้า เพราะสัญญาณเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,960 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2567