ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19ก.ค. “อ่อนค่าลงหนัก” ที่ระดับ 36.21 บาทต่อดอลลาร์

19 ก.ค. 2567 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2567 | 09:00 น.

ค่าเงินบาทอาจถูกกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ความเสี่ยงที่ฟันด์โฟลว์อาจไหลออกจากตลาดทุนไทย หากบรรยากาศตลาดการเงินยังปิดรับความเสี่ยง ในระยะสั้น โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำอาจกดดันเงินบาทในจังหวะราคาทองคำเข้าสู่ช่วงการพักฐาน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19ก.ค. 2567  ที่ระดับ  36.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.97 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทที่ผันผวนอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ในคืนที่ผ่านมานั้น สะท้อนว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง และเงินบาทก็อาจเกิดรูปแบบการกลับตัว จากแข็งค่าเป็นอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 20-21 พฤษภาคม

หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็เป็นไปได้ว่า เงินบาทก็อาจถูกกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และความเสี่ยงที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไหลออกจากตลาดทุนไทย

โดยเฉพาะตลาดหุ้นได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า ในระยะสั้น ราคาทองคำอาจเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจยิ่งกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้

 ทั้งนี้ แนวต้านเงินบาทถัดไปจากโซนที่เราประเมินไว้จะอยู่แถว 36.25-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในโซนดังกล่าว แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ทะลุโซนดังกล่าว ก็มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถวเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ในช่วง 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจขยับขึ้นมาอยู่ในช่วง 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.93-36.21 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินโดยรวม

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายนและการประชุมเดือนธันวาคม

แม้ว่า ประธาน ECB จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนนัก ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ECB คืนที่ผ่านมาก็ตาม และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

หลังราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรก 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยแรงขายหุ้นได้กระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นและไม่ได้กระจุกอยู่เฉพาะหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia +2.6% ก็พอช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไว้ได้บ้าง โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.78%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลง -0.16% ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่ม AI/Semiconductor ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดย ASML -3.7% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ผลประกอบการของกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น

ในส่วนตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวโดยรวมของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะ sideways ไม่ต่างจากที่เราประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.18% และมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัว sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุมเฟด

รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) จากการปรับฐานของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.7-104.3 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดทางให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน (ทยอยรับรู้ในช่วง 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ว่าจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้อย่างไรบ้าง (ทยอยรับรู้ในช่วง 21.40 น. ตามเวลาประเทศไทย)

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่อาจช่วยพลิกฟื้นบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้ หากรายงานผลประกอบการออกมาสดใสและดีกว่าคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.19-36.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.42 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

โดยเงินบาทขยับอ่อนค่ากลับมาอยู่ในฝั่งที่อ่อนค่ากว่าแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย เงินหยวนและเงินเยน สวนทาง sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงฟื้นกลับมาต่อเนื่องโดยมีอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบที่กดดันให้กลับมาอ่อนค่าจากแรงขายทำกำไรทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.05-36.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นในภูมิภาค  ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด