บัญชีกลางไล่บี้ 38 กรม เร่งเบิกจ่ายงบตามเป้า75%

12 ก.ค. 2567 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 15:21 น.
2.8 k

บัญชีกลางเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน คาดสิ้นปีงบ 67 ทำได้ตามเป้าไม่น้อยกว่า 75% มีเม็ดเงินลงเศรษฐกิจ 5.4 แสนล้านบาท เกาะติด 38 กรมน่าห่วงเสี่ยงเบิกจ่ายต่ำ แก้เกณฑ์อุทธรณ์ไม่มีเหตุ ระบุล่าสุดเบิกจ่ายได้ 40% เกินครึ่งทางแล้ว

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่มีผลบังคับล่าช้า ส่งผลให้เหลือระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณเพียง 5 เดือนเท่านั้นก่อนจะสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายน 2567 ส่งผลให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยมีีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐมอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปเร่งรัดการเบิกจ่ายใน 10 กระทรวงที่่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และที่ประชุมยังได้สั่งการให้กระทรวงดังกล่าว จัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง ประมาณการเบิกจ่ายที่จะทำได้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567นี้

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

ทั้งนี้ปัจจุบัน 10 กระทรวงดังกล่าวได้ส่งรายงานกลับมาให้กรมแล้วพบว่ามี 38 กรมภายใต้สังกัด มีการเบิกจ่ายที่น่าเป็นห่วงและคาดว่าหากเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้ง 38 กรมแล้ว จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 65% เท่านั้น จากเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 จะต้องไม่น้อยกว่า 75%

อย่างไรก็ดี ประเมินว่า หากรวมกับภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งหมด 20 กระทรวง คาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 75% คิดเป็นวงเงิน 5.4 แสนล้านบาท

“รัฐบาลวางเป้าหมาย การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 ไว้ สำหรับรายจ่ายประจำไม่น้อยกว่า 93% ซึ่งขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 78% คิดเป็นวงเงิน 2.7 ล้านล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายลงทุน วางเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 75% ตอนนี้ทำได้แล้ว 40% คิดเป็นวงเงิน 2.6 แสนล้านบาท ถือว่ามาเกินครึ่งทางแล้ว" นางสาวทิวาพร กล่าว 

 

บัญชีกลางไล่บี้ 38 กรม เร่งเบิกจ่ายงบตามเป้า75%

ส่วนใหญ่เป็นโครงการเบิกจ่ายปีเดียว ส่วนในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายฯในครั้งถัดไป จะมีการเชิญ 38 กรมดังกล่าวมาอธิบายรายละเอียดความคืบหน้าในที่ประชุมด้วย เราคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้จะสามารถทำได้ตามเป้า

ขณะเดียวกัน เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุด กรมได้มอบหมายให้คณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่ายลงไปกำกับหน่วยรับงบประมาณที่เบิกจ่ายงบลงทุนต่ำ หรือหน่วยงาน 38 กรมดังกล่าว เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการทุกสัปดาห์ รวมทั้งติดตามปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าเบิกจ่ายได้

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่าย ร่วมประชุมกับคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายของกรมต่างๆ ด้วย เพื่อรับทราบปัญหาที่ติดขัด หากมีความต้องการให้กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะสามารถดำเนินการได้เลย ทั้งนี้ รมว.คลัง ยังได้นำปัญหาเรื่องการติดขัดการเบิกจ่ายไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจด้วย เพื่อให้รมว. แต่ละกระทรวงช่วยกำกับและติดตามเร่งรัดในเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายมาอย่างต่อเนื่อง คือ การอุทธรณ์ โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือออกไปย้ำเตือนในสิ่งที่ไม่ต้องส่งเข้ามาขออุทธรณ์ และไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เนื่องจากบางเรื่องเป็นการอุทธรณ์โดยมิใช่เหตุ ทำให้หน่วยงานต้องสะดุดเพื่อรอผลการอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อออกเกณฑ์ดังกล่าวก็ทำให้การเดินหน้าเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมยังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายการอุทธรณ์โดยมิใช่เหตุ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนเก็บค่าธรรมเนียม เนื่องจากล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า หากจะเก็บเงินในการยื่นอุทธรณ์ เป็นการขัดขวางตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ ซึ่งกรมอาจจะเปลี่ยนวิธีว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น อาจจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมก่อน กรณีที่อุทธรณ์ไม่ผ่าน กรมก็ริบเงินค่าธรรมเนียม ส่วนผู้ที่อุทธรณ์แล้วผ่าน กรมก็จะคืนเงินให้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงได้ประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ (8 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท (ร้อยละ 11.98) และรายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท (ร้อยละ 88.02)

ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2566 (11 รัฐวิสาหกิจ) วงเงินเบิกจ่ายรวม 108,924.41 ล้านบาท ประกอบด้วย ทางราง (รฟท. รฟม. และ SRTA) วงเงิน 63,525.06 ล้านบาท ทางบก (กทพ. ขสมก. และ บขส.) วงเงิน 11,334.87 ล้านบาท ทางน้ำ (กทท.) วงเงิน 1,915.76 ล้านบาท และทางอากาศ (สบพ. ทอท. บวท. และรทส.) วงเงิน 32,148.72 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เบื้องต้นกระทรวงได้รับจัดสรรงบประมาณ 228,803.59 ล้านบาท พบว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ไปแล้ว 32% จาก 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนการเบิกจ่าย 

ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนสูงกว่าเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 23.01% โดยตั้งเป้าแผนเบิกจ่ายสะสมในเดือนกรกฎาคมนี้ อยู่ที่ 136,458 ล้านบาท คิดเป็น 59.64% ทั้งนี้ในระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เหลือ 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน 2567) คาดว่าทุกหน่วยงานจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณฯ ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและกระทรวงฯ ตั้งไว้

รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณระบุว่า เพื่อเป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงเห็นควรที่หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการดำเนินงานและการก่อหนี้ผูกพันให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะหน่วยรับงบประมาณที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก

ในส่วนรายจ่ายประจำ ให้เร่งรัดการจัดฝึกอบรม ประชุม และสัมมนาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยปรับแผนการดำเนินงานและการใช้จ่ายภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการจัดสัมมนาและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season (กรกฎาคม - กันยายน)ที่จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวน้อยกว่าช่วงระยะเวลาอื่นโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการในพื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัด เพื่อกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

ส่วนรายจ่ายลงทุน ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากํหนดระยะเวลาส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 โดยเฉพาะรายการปีีเดียว ที่ส่วนใหญ่มีวงเงินในระดับต่ำ สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และมีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้า (Import Content) ในระดับต่ำเพื่อให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับรายการผูกพันใหม่ เห็นควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,007 วันที่ 7 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567