เครดิตบูโร เห็นปัญหาล้างประวัติแบล็กลิสต์ แนะทางออกคนละครึ่งทาง

11 ก.ค. 2567 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 13:25 น.
19.7 k

เครดิตบูโร เห็นปัญหามาตรการล้างประวัติแบล็กลิสต์ แนะทางออกคนละครึ่งทาง เฉือนเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูมาช่วยลดดอกเบี้ยลูกหนี้รหัส 21 ให้กลับมาเป็นบัญชีปกติ กู้ใหม่ได้

KEY

POINTS

  • สถานการณ์หนี้ในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น โดยข้อมูล 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 1.14 ล้านล้านบาท ประเภทหนี้เสียที่มากที่สุดคือสินเชื่อรถยนต์ ตามด้วยสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต
  • แนวคิดช่วยลูกหนี้ SME ที่เป็น NPL จากผลกระทบโควิด (รหัส 21) ให้หลุดจากแบล็คลิสต์เร็วขึ้น ยังต้องมีพิจารณาผลกระทบ และเจ้าหนี้รายเดิมอาจเรียกชำระหนี้ จากลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อใหม่
  • ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา เช่น การลดสัดส่วนเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูของธนาคารพาณิชย์ และนำเงินส่วนที่เหลือมาลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ หรือเพิ่มสัดส่วนเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่วนต่างมาช่วยลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้

สถานการณ์หนี้ของคนไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา ข้อมูลเครดิตบูโร 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าหนี้เสียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.2% QoQ และเพิ่มขึ้น 11.3% YoY โดยประเภทของหนี้เสียมากที่สุดเป็นสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1%YoY รองลงมาคือหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 2.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% YoY และอันดับ3 เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% YoY

ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และการตัดชำระหนี้ โดยมีเหตุผลในการอกประกาศเพื่อให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่สร้างภาระเกินสมควร จนทำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ แต่ยังสะท้อนต้นทุน และไม่ทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน 

สอดคล้องกับกรอบหลักการที่ผู้ให้บริการต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติ และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ย ค่าบริการ และเบี้ยปรับสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงให้การตัดชำระหนี้สามารถลดภาระหนี้เงินต้น ให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้ 

เครดิตบูโร เห็นปัญหาล้างประวัติแบล็กลิสต์ แนะทางออกคนละครึ่งทาง ด้านกระทรวงการคลัง ก็มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากผลกระทบของโควิด หรือรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถหลุดจากติดแบล็คลิสต์ (Black List) ได้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ถึงสถานการณ์หนี้และแนวทางแก้ปัญหา โดยนายสุรพลมีมุมมองว่า วิกฤตปี 40 เปรียบเหมือนดาวหางวิ่งชนโลก มีการลดค่าเงินบาท มีการสั่งปิดสถาบันการเงิน 

ซึ่งส่งผลให้เงินไม่ลื่นไหล ผู้ประกอบการ นักธุรกิจที่รอตัวเงินเพื่อมาดำเนินธุรกิจก็ไม่สามารถมีเงินที่เบิกออกมาได้ กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลกระทบในบริษัทขนาดใหญ่ ของ 70-80 ตระกูล แต่ลูกจ้าง,คนตัวเล็กตัวน้อยในขณะนั้นไม่มีหนี้เกาะหลัง ไม่ได้มีหนี้บัตรเครดิต ไม่มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่มีหนี้รถยนต์เยอะแยะ เต็มที่ก็มีหนี้บ้าน คนที่ตกงานก็คืนถิ่น เกิดตลาดนัดเปิดท้ายขายของเพื่อหาสภาพคล่อง

แต่เศรษฐกิจปีนี้เปรียบเหมือนไฟป่า ที่ค่อยๆลุกลามไปจนทั่วจนทำให้ต้นหญ้าเล็กๆน้อยๆ แห้งกรอบตายหมด ดังนั้นต้นไม้ ต้นหญ้าเหล่านี้ต้องการน้ำมาเติม เพราะแม้จะมีฝนตกลงมา หรือเศรษฐกิจบางภาคส่วนที่ฟื้นตัว แต่ก็ไม่ทั่วถึง เป็นเศรษฐกิจรูปตัวK ที่มีทั้งขาขึ้น และขาลง ซ้ำยังถูกกดทับจากภาวะสงคราม หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม ค่าครองชีพสูงขึ้น

ดังนั้นเม็ดเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเปรียบเสมือนน้ำ จึงจำเป็นต้องเร่งเติมลงไปให้กับต้นหญ้าที่ยังไม่ตายลง เพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งลูกหนี้รหัส 21 ที่มีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านบัญชี เป็นหนี้เสียจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ก่อนปี 2562 สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติได้อย่างดี แต่เริ่มเกิดปัญหาการชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนกระทั่งกลายมาเป็นหนี้เสียในท้ายที่สุดเมื่อปี 2565 มูลหนี้ประมาณ 400,000 ล้านบาท 

การออกประกาศเปลี่ยนกติกาว่า จากเดิมที่ส่งข้อมูลต่อเนื่อง 5ปี และใช้เวลา 3ปีในการลบข้อมูล ให้เปลี่ยนเป็นกติกาใหม่แล้วแต่จะกำหนดเช่น 4ปีในการส่งข้อมูล 3ปีในการลบข้อมูล หรือ3ปีในการส่งข้อมูล 3ปีในการลบข้อมูล ก็สามารถทำได้ เพียงให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (ก.ค.) ซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการนั้นออกประกาศ แต่ในส่วนของเครดิตบูโรนั้น ได้แจ้งกลับไปยังกระทรวงการคลัง และ ธปท. แล้วว่าหากมีการออกคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายออกมาก็สามารถทำได้

แนวความคิดเรื่องการล้างข้อมูลเครดิตบูโรเกิดขึ้นจากความต้องการให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้โดยเจ้าหนี้ใหม่จะไม่เห็นข้อมูลบางส่วน แต่ต้องไม่ลืมว่าประวัติการผิดนัดชำระหนี้ยังคงมีอยู่กับธนาคารเดิม และมีความเสี่ยงในกรณีที่ลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินใหม่ได้ 

ซึ่งข้อมูลจะต้องถูกส่งมาที่ศูนย์เครดิตบูโร แล้วหากลูกหนี้นำไปลงทุนโดยไม่ได้มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายเดิม เจ้าหนี้รายเดิมทราบ อาจเกิดการฟ้องร้องเพื่อเรียกคืนหนี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ปล่อยกู้รายใหม่ ดังนั้นหากมีการล้างประวัติแบล็กลิสต์เครดิตบูโรจึงไม่แน่ใจว่า จะมีลูกหนี้รหัส 21 ได้รับประโยชน์จำนวนเท่าใด 

เครดิตบูโร เห็นปัญหาล้างประวัติแบล็กลิสต์ แนะทางออกคนละครึ่งทาง

แต่หากไม่ใช้มาตรการล้างประวัติแบล็กลิสต์เครดิตบูโร นายสุรพลเสนอแนวทางคือ การลดสัดส่วนเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูลงมา จาก 0.46% เหลือ 0.23% แล้วให้ธนาคารพาณิชย์ นำ 0.23% ที่เหลือมาลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเงินประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท

โดยนำเงินก้อนนี้มาลดดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง และลูกหนี้จ่ายเองอีกส่วนหนึ่ง อาจกำหนดสัดส่วน 50:50 ก็ได้ แล้วปรับโครงสร้างจากหนี้เสียให้กลายเป็นหนี้ดี ถือว่าช่วยกันคนละครึ่งทางโดยลดสัดส่วนจ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟู ซึ่งเปรียบเหมือนหนี้ที่ไม่มีชีวิต เพื่อมาช่วยหนี้ที่มีชีวิตก่อน

เมื่อลูกหนี้ได้คืนสถานะหนี้ปกติกลับมา ก็จะสามารถไปยื่นขอสินเชื่อใหม่ได้ โดยอาจเป็นการขอสินเชื่อกับธนาคารของรัฐ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้

หรืออาจใช้วิธีเพิ่มสัดส่วนเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ จาก 0.46% เป็น 0.60% ในกรณีที่ไม่สามารถลดสัดส่วนการส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูได้ โดยส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาให้นำไปช่วยลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ในลักษณะเดียวกัน เพราะประเด็นสำคัญคือ การที่ลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายดอกเบี้ยได้ ก็จะกลายเป็นหนี้ปกติ ที่สามารถเข้าสู่การปรับงวดชำระให้ยาวขึ้น หรืออาจช่วยลูกหนี้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปด้วยพร้อมๆกัน

ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้สามารถคิดคำนวณออกมาได้ว่า ใน 4.3 ล้านบัญชีนั้น มีดอกเบี้ยจำนวนเท่าไหร่ และสามารถเห็นข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งนำส่งเงินเข้าสู่กองทุนฟื้นฟู ก็ให้นำเงินส่วนนี้กระจายลงไปช่วยด้านดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของตนเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เพราะการหาวิธีจ่ายหนี้ให้ครบถ้วนนั้นไม่สามารถเป็นไปได้