เบื้องหลังปฏิบัติการลับ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคดี STARK กลับไทย

23 มิ.ย. 2567 | 22:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 22:44 น.
636

เปิดเบื้องหลังปฏิบัติการลับการนำ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคดีหุ้น STARK กลับไทย บทพิสูจน์ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน

การนำตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับประเทศไทย เพื่อดำเนินคดีในข้อหาทุจริตตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาลกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 หลังจากผู้ต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน 2566

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะทำงานที่มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวกับรายละเอียดของการจับกุม ผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ และมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคต

 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดของปฏิบัติการลับครั้งนี้ว่า เป็นภารกิจที่ใช้เวลากว่า 8-9 เดือน โดยเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบหมายให้เป็นภารกิจสำคัญตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง

กระบวนการติดตามตัวเริ่มต้นด้วยการสืบหาข้อมูลว่าผู้ต้องหาหลบหนีไปอยู่ที่ใด จนกระทั่งพบว่าอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) คณะทำงานต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เนื่องจาก UAE ประกอบด้วยหลายรัฐที่มีการปกครองแยกส่วนกัน ทำให้การขอข้อมูลจากแต่ละที่ใช้เวลานาน

เบื้องหลังปฏิบัติการลับ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคดี STARK กลับไทย

“เดือนกุมภาพันธ์ได้รับรายงานมาว่าผู้ต้องหาออกจากกรุงเทพฯไปที่ UAE จึงมีการประสานงาน เช็คข้อมูล ดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ เนื่องจากกฎหมายไทยกับกฏหมาย UAE แตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ต้นเดือนมิถุนายนว่าระบุได้แล้วว่านายชนินทร์อยู่ที่ไหน จึงประสานกับทางราชการ เเละเข้าไปคุยกับผู้ต้องหา โดยผมได้เดินทางไป UAE 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนมีนาคมเพื่อไปทำให้รัฐบาล UAE แน่ใจว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับคดีนี้มาก และต้องการตัวกลับมาดำเนินคดี ยอมรับว่ามีความท้าทายและมีอุปสรรคตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายที่แตกต่างกัน รวมทั้งการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างกรณีนี้จะไม่เรียกว่าเป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน”

การจับกุมเกิดขึ้นโดยใช้วิธีการเจรจาให้ผู้ต้องหาสมัครใจกลับมาสู้คดีในประเทศไทย ซึ่งนายจักรพงษ์ เรียกว่าเป็น "การสมัครใจแบบกึ่งบังคับ" เนื่องจากกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการอาจใช้เวลานานหลายปี และไม่เคยประสบความสำเร็จในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา

"คดีนี้เป็นความร่วมมือหลายหน่วยงาน กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ กระทรวงต่างประเทศ ก.ล.ต อัยการสูงสุด ถือว่าเป็นคดีที่ประสบความสำเร็จในห้วงเวลา 20-30 ในการนำผู้ต้องหาใน White collar กลับมาได้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เเละเป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล โดยการนำของท่านนายกฯ เศรษฐาที่ไม่อยากให้มีการทุจริตในตลาดทุน ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงได้เป็นการสั่งการตั้งแต่ช่วงแรกของการที่รับตำแหน่งแล้วก็กำชับเลยว่าเป็นเรื่องลับและจะต้องเอาตัวกลับมาให้ได้”

นายชนินทร์ได้ขอให้มีการดูแลความปลอดภัย โดยอ้างว่าถูกคุกคามมาโดยตลอด ทั้งก่อนออกจากประเทศไทยและระหว่างที่อยู่ใน UAE ทางการจึงได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นคีย์แมนสำคัญของคดี 

คาดว่าการจับกุมครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดทุนไทย โดยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้การดำเนินคดีในตลาดทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำหนดนโยบายเพิ่มเติม

คดีนี้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เงินเก็บมาลงทุนในหุ้น STARK ซึ่งในช่วงนั้นเป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นบริษัทผลิตสายไฟที่กำลังขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ราคาหุ้นได้ดิ่งลงเหลือเพียง 10% ของราคาสูงสุด ทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินต้นไปเกือบทั้งหมด

นายจักรพงษ์กล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการกำกับดูแลตลาดทุน และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งไม่ควรเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับ

การนำตัวนายชนินทร์กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบตรวจสอบและกำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต