ผู้สอบบัญชีพบ Z.com แบกลูกหนี้บัญชีมาร์จิ้นหุ้น MORE หลังแอ่น

27 พ.ค. 2567 | 17:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2567 | 20:06 น.
1.8 k

เปิดเบื้องหลังปัญหาลูกหนี้มาร์จิ้นหุ้น MORE ของบริษัทหลักทรัพย์ Z.com หลังราคาหุ้นร่วงต้องปรับโครงสร้างหนี้-ฟ้องร้องลูกหนี้หลายคดี พบรายใหญ่สุดให้กู้ซื้อหุ้นกว่า 2 พันล้านบาท

กรณีบริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.com ให้บริการมาร์จิ้นแก่ลูกค้าในการซื้อขายหุ้นของบริษัท MORE จนสร้างบัญหาให้กับฐานะทางการเงินของบริษัทในเวลาต่อมา 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่จัดทำโดย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด พบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการให้บริการมาร์จิ้น ในการซื้อขายหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ของ Z.com ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ที่ใช้หุ้น MORE เป็นหลักประกันบางราย จํานวน 2,099.66 ล้านบาท แต่มูลค่าของหุ้นลดลงอย่างมาก จนทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ดังกล่าว ทั้งหมดเป็นจํานวนรวม 952.32 ล้านบาท 

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 มีลูกหนี้หุ้น MORE รายหนึ่งได้ทําสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัท เป็นจํานวนเงิน 768.70 ล้านบาท และในวันเดียวกัน บริษัทได้ดําเนินการ ขายหุ้น MORE จากลูกหนี้หุ้น MORE รายอื่นที่เหลือจํานวน 360.28 ล้านบาท โดยที่บริษัทได้ทําการซื้อหุ้น MORE ผ่านการทําธุรกรรมแบบการซื้อหลักทรัพย์รายใหญ่ ทั้งนี้ ลูกหนี้หุ้น MORE ยังมียอดหนี้คงเหลือรวมจํานวน 893.54 ล้านบาท
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทได้ดําเนินการยื่นฟ้องร้องเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้หุ้น MORE  ต่อศาลแพ่ง เพื่อบังคับการชําระหนี้คงเหลือพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด และค่าเสียหายอื่นๆ หลังจากนั้น ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2566 ลูกหนี้หุ้น MORE จํานวน 3 ราย ได้ทําสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทตามคําพิพากษาของศาลแพ่งเป็นจํานวนเงิน 544.41 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 31 ธันวาม 2566 ลูกหนี้หุ้น MORE อีกหนึ่งรายอยู่ระหว่าง การนัดสืบพยาน โดยศาลแพ่งนัดสืบพยานครั้งถัดไปในวันที่ 3 กันยายน 2567

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 บริษัทได้ดําเนินการยื่นฟ้องร้องลูกหนี้ผ่อนชําระรายหนึ่งเป็น จํานวนเงิน 19.56 ล้านบาท โดยปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคําพิพากษาให้ลูกหนี้ผ่อนชําระรายดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ซึ่งบริษัท,kทราบเรื่อง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 และบริษัทได้ยื่นคําขอชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อรักษาสิทธิในหนี้คงค้างต่อลูกหนี้ผ่อนชําระดังกล่าว โดยบริษัทได้รับรู้ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ผ่อนชําระดังกล่าวทั้งหมดแล้ว

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 บริษัทได้ดําเนินการยื่นฟ้องร้องเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้ผ่อนชําระ จํานวน 3 รายต่อศาลแพ่ง เพื่อบังคับการชําระหนี้คงเหลือพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด และค่าเสียหายอื่นๆ ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ลูกหนี้ผ่อนชําระดังกล่าวยังมียอดหนี้คงเหลือรวมจํานวนเงิน 402.61 ล้านบาท โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานและนัดไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัท และลูกหนี้ผ่อนชําระดังกล่าว โดยบริษัทได้รับรู้ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ดังกล่าวแล้ว เป็นจํานวนรวม 331.72 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในหมายเหตุงบการเงินข้อ 8.4 ยังระบุว่า บริษัทมีเงินลงทุนในตราสารทุนที่บริษัทถือหุ้นตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของจำนวนที่หุ้นออกจำหน่าย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 1 บริษัท คือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 11.69% มูลค่า 83,899,590 บาท