บล.ทิสโก้ คาดมาตรการคุม Short sell หนุนดัชนีพุ่ง 30 จุด - เชียร์ 8 หุ้นคุณภาพ

03 พ.ค. 2567 | 05:05 น.

บล.ทิสโก้ ประเมินเฟดและกนง.อาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด แนะหลบภัยด้วยการซื้อหุ้นเชิงคุณภาพมีปัจจัยบวกระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นที่คาดงบจะเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหุ้นที่มีโอกาสเข้าดัชนี SET50 พร้อมคาดมาตรการคุม “Short sell” หนุนดัชนีพุ่ง 30 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล  ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า บล.ทิสโก้มองว่าปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ได้ส่งสัญญาณไว้ หลังแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง 

จากข้อมูล CME FedWatch Tool ล่าสุดในช่วงสิ้นเดือนเมษายนตลาดประเมินโอกาส FED จะลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเหลือเพียง 10% ต้น ๆ ลดลงจากช่วงต้นเดือนเมษายนที่อยู่สูงกว่า 60% โดยการลดดอกเบี้ยของ FED ครั้งแรกถูกเลื่อนเป็นเดือนกันยายน และในปีนี้อาจจะลดดอกเบี้ยได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นอาจปรับตัวลดลงรับข่าวดังกล่าว 
 

"FED มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าคาด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ส่งสัญญาณแข็งกร้าวต่อเนื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินมีผลจำกัดต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง  ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) จึงเปลี่ยนมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 0.25% ในไตรมาส 4/2567 จากเดิมที่มอง 0.50% ในครึ่งปีหลัง ด้วยแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีนี้มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้โอกาสการลดดอกเบี้ยของไทยลดน้อยลงด้วย  บล.ทิสโก้มองตลาดอยู่ในช่วงของการหาสมดุลใหม่ แนะนำเลือกหุ้นเชิงคุณภาพที่มีปัจจัยบวกระยะสั้น และหุ้นที่มีโอกาสจะเข้า SET50 ครึ่งปีหลัง” นายอภิชาติกล่าว   

สำหรับหุ้นเชิงคุณภาพที่มีปัจจัยบวกระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นที่คาดงบจะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) แนะนำ AAI, BDMS, CPAXT, ICHI, และ NSL ,หุ้นที่มีโอกาสจะเข้า SET50 ครึ่งปีหลัง แนะนำ BJC และ ITC นอกจากนี้ บล.ทิสโก้แนะนำ STANLY คาดหวังการประกาศผลประกอบการและจ่ายเงินปันผลประจำปี  

โดยสรุป หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือนพฤษภาคม คือ AAI, BDMS, BJC, CPAXT, ICHI, ITC, NSL และ STANLY ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้แนวรับแรกอยู่ที่  1350 จุด แนวรับต่อมาคือ 1,330 จุด และ 1,300 จุดตามลำดับ แนวต้านสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,380 จุด แนวต้านต่อไปคือ 1,405-1,410 จุด และ 1,430-1,440 จุด ตามลำดับ 
 

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในหลาย ๆ ด้าน โดยมาตรการที่คาดว่าจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาส 2/2567 คือ การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ โดยกรณี Non-SET 100 จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท ต้องมีปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ยใน 12 เดือนที่ระดับ 2% และยังมีการเพิ่มราคาขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) การยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขาย น่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ แต่อาจต้องแลกด้วยมูลค่าซื้อขายที่อาจลดลงตามกฎเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ที่มีความเข้มงวดขึ้น โดยการเพิ่มเกณฑ์ Uptick เคยถูกนำมาใช้ในช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดวิกฤติ COVID-19 ระบาด ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตที่ปกติอยู่ประมาณ 5-6% ของมูลค่าซี้อขายโดยรวมของตลาดลดเหลือไม่ถึง 1% หรือลดลงกว่า 80%   


บล.ทิสโก้ประเมินว่า หากนำเกณฑ์ Uptick มาใช้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ต้น ๆของมูลค่าซื้อขายโดยรวม ลดลงเหลือเพียง 2-3% เท่านั้น หรือเทียบเท่ามูลค่าซื้อขายจะลดลงประมาณ 10% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท  อิงจากสัดส่วนราว 90% ของการขายชอร์ตเป็นหุ้น NVDR ซึ่งลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางการลงทุนของต่างชาติมีอิทธิผลต่อดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างสูง (Correlation +0.78)

ดังนั้นการขายชอร์ตของต่างชาติที่หายไปทุก ๆ 1,000 ล้านบาท คาดจะมีผลบวกต่อดัชนีหุ้นไทย ราว 7- 8 จุด ดังนั้นหากมูลค่าชอร์ตหายไปราว 4,000 ล้านบาทที่กล่าวไว้ในตอนต้น บล.ทิสโก้ประเมินจะส่งผลเชิงบวกต่อดัชนีหุ้นไทยราว 30 จุด