ผวารัฐกู้เงิน 1.2 ล้านล้าน แย่งสภาพคล่องตลาด

27 เม.ย. 2567 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 13:00 น.
2.0 k

ตลาดเงินหวั่น รัฐระดมเงินใช้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทกระทบสภาพคล่องในระบบ เหตุต้องกู้เต็มจำนวน 5 แสนล้านบาท เลี่ยงผิด พ.ร.บ.เงินตรา แถมยังมีวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบอีก คาดช่วง 8 เดือนที่เหลือปี 67 วงเงินกู้สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท

หนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 กำลังสร้างความกังวลให้กับตลาดเงินตลาดทุน สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) อายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 2.78% ในช่วงเช้าวันที่ 25 เมษายน 2567

ข้อกังวลหนึ่งของธปท.คือ แหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ

ผวารัฐกู้เงิน 1.2 ล้านล้าน แย่งสภาพคล่องตลาด

หากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใดๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ. 2501 ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 35 ที่บัญญํติว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ขณะที่รัฐบาลกำหนดแหล่งเงินที่จะมาใช้ดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำนวน 500,000 ล้านบาทจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย

  • เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท
  • การบริหารจัดการเงินงบประมาณปีงบ 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
  • การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ด้วยการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมสนับสนุนตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 172,300 ล้านบาท

รัฐกู้เงิน 1.2ล้านล้าน  

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ในช่วง 8 เดือน(พ.ค.-ธ.ค.)ของปี 2567 กระทรวงการคลังจะต้องกู้เงินประมาณ 1-1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2567 ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 2567 จำนวน 693,000 ล้านบาท จากนั้นในช่วงเดือน ต..ค.-ธ.ค. 2567 ก็จะต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลปีงบประมาณ 2568 อีก 300,000- 350,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการกู้สำหรับโครงการเงินดิจิทัล 152,700 ล้านบาทที่เหลือเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล ซึ่งปกติจะกู้ไตรมาสละ 150,000-200,000 แสนล้านบาท

ขณะที่ธ.ก.ส. ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทก็จะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นมาใช้ดำเนินโครงการเงินดิจิทัลอีก 172,300 ล้านบาท

“เมื่อรวมเงินกู้ของกระทรวงการคลังและธ.ก.ส.แล้วจะมีวงเงินที่ภาครัฐจะเข้าไปกู้เงินในระบบประมาณ 1.1-1.2 ล้านล้านบาท อาจทำให้สภาพคล่องในระบบตึงตัว กระทบกับการระดมเงินของภาคเอกชนที่ช่วงต้นปีมีการประเมินการออกหุ้นกู้ของเอกชนที่ 1 ล้านล้านบาทอยู่แล้ว ผลักดันให้ต้นทุนการออกตราสารหนี้หรือ การเสนอดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับฝั่งผู้กู้ ทั้งเอกชนและภาครัฐ” นักเศรษฐศาสตร์ระบุ

ห่วงภาระหนี้ระยะยาว

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมืองเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ซึ่งจะขาดดุลงบประมาณราว 3-4%ต่อจีดีพีจากเดิมที่ขาดดุล 1-2%ต่อจีดีพี ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใจ เพราะ ไทยขาดดุลมาตลอด แม้จะยังไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท อย่างปีงบประมาณ 2567 หากไม่มีการปรับตัวเลขใหม่ ก็จะขาดดุล 3.7%ที่สำคัญต้องแก้ไขการขาดดุลงบประมาณด้วยการไม่ก่อหนี้หรือหนี้มีปัญหาหรือไม่

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

“การที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่า มีปัญหา เพราะบางประเทศตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง  ซึ่งนักลงทุนจะดูว่า มีความสามารถในการจ่ายคืนหรือไม่ หากมีความสามารถในการจ่ายคืนก็จะไม่มีประเด็นปัญหา อย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 96%ต่อจีดีพี แต่ระยะหลังบริษัทจัดอันดับเครดิตได้ออกมาเตือนบ้างแล้ว”รศ.ดร.สมชายกล่าว

สำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขี้นราว 2.5% เพราะการก่อหนี้ทุก 100,000 ล้านบาทจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มเป็น 64.5%ต่อจีดีพี จากปัจจุบันที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 62% เพราะการดึงเงินจากธ.ก.ส.เบื้องต้นไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมเงินของธ.ก.ส.เท่ากับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขี้นกว่า 300,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.75% ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 63.75% ซึ่งเป็นภาระหนี้ไม่มาก เพราะเพดานหนี้สาธารณะสูงถึง 70% แต่หากในอนาคตธ.ก.ส.มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ต้องช่วยด้วยการออกพันธบัตร ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นหนี้สาธารณะได้

สิ่งที่เป็นห่วงคือ หนี้สาธารณะนี้จะเป็นภาระในระยะกลางและระยะยาว เพราะการก่อหนี้ทุก 100,000 ล้านบาทจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 0.5% แต่ทุก 100,000 ล้านบาทใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เท่ากับกระตุ้นได้แค่ปีเดียว แต่หากรัฐบาล จะขาดดุลในหลายปีไปเรื่อยๆ แล้วจะจ่ายคืนหนี้อย่างไร เพราะขณะนี้รัฐบาลมีรายจ่ายต่างๆมากพอสมควร แนวโน้มจะเป็นปัญหาได้ เมื่อรายจ่ายอย่างอื่นจะเข้ามาอีก 

แนะใช้งบปรับโครงสร้างศก.

ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย อายุเกิน 60 ปีราว 12-13 ล้านคนจะเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในอีก 16 ปี สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจาก 17% ของจำนวนประชากรเป็นกว่า 30% เท่ากับรายรับภาษีจะน้อยลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นตลอด และเศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาโดยตลอด 13 ปี ตั้งแต่ปี 2554 -2566 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ย 2.6%ต่อปี ขณะที่อาเซียนเติบโต 4.2%ต่อปี

“ฉะนั้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการกระตุ้นชั่วคราว ไม่ได้เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน แถมยังมีการสร้างหนี้ด้วย สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ หาทางพัฒนาโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าปรับปรุงทักษะแรงงาน ด้านเอสเอ็มอี หรือคลัสเตอร์ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญพัฒนาด้านการศึกษา ด้านเกษตรอัจฉริยะ”รศ.ดร.สมชายกล่าว

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกต้องเป็นใจด้วย เพราะหากหนี้สาธารณะเพิ่ม แต่จีดีพีลดลง หมายความว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะยิ่งเพิ่มขึ้นแม้วินัยทางการคลังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นปัญหา สิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง 3 เรื่องคือ อย่าให้หนี้สาธารณะสะสมจนบานปลาย เสริมสร้างขีดความสามารถเพิ่มรายรับภาครัฐ สะท้อนความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ และความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและโลก

สภาพคล่องในระบบ4.5ล้านล้าน

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องวินัยทางการคลังเป็นสิ่งที่นักลงทุนและตลาดจับตามอง แม้ระยะสั้นแผนขาดดุลที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ภาครัฐจะต้องมีแผนปิดการขาดดุลระยะยาว โดยไม่ปล่อยให้ขาดดุลไปเรื่อยๆ จนเป็นภาระให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้้รายจ่ายเพิ่ม แต่รายรับหด ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนติดตามแผนการบริหารหนี้หรือแผนการปิดการขาดดุลระยะยาวอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต

สำหรับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง โดยในเชิงสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนระหว่างสินเชื่อต่อเงินฝาก 92% และ LCR กว่า 180% ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเงินฝากเติบโตมาจนถึงต้นปีนี้ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อสวนทางกัน โดยเห็นได้จากเงินฝากสูงกว่าเงินปล่อยกู้

“เราจะเห็นแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษสนับสนุนให้เงินฝากประจำเติบโตพอสมควร สะท้อนสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับความต้องการสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้น และระบบธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ” นายนริศกล่าว

รายใหญ่ปรับแผนกู้แบงก์

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่เหลือ น่าจะไม่แรงนักคือ เติบโตในกรอบที่จำกัด เพราะทั้งระบบ สินเชื่อธุรกิจถูกฉุดรั้งจากการชำระหนี้ แต่อาจจะเห็นสินเชื่อรายย่อยเติบโตจากสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งความต้องการสินเชื่อยังไม่กลับมาแรง เพราะความต้องการสินเชื่อจะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ส่วนแนวโน้มการระดมทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ น่าจะหันมาใช้บริการเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์บางส่วน ฉะนั้นคงจะไม่เห็นการระดมทุนออกหุ้นกู้เติบโตต่อเนื่องเหมือนก่อนหน้า

ส่วนต้นทุนในการออกหุ้นกู้นั้น ขึ้นกับแต่ละประเภทธุรกิจและเครดิตเรตติ้ง ซึ่งอัตราผลตอบแทนหรือบอนด์ยีลด์ของไทยปรับขึ้นตามบอนด์ยีลด์ของสหรัฐ เห็นได้จาก อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ระยะเวลา 1-3 ปีนั้น ประเภทไฮยีลด์ หรือนอนเรต จะอยู่ประมาณ 7% เกือบ 8% ส่วนหุ้นกู้ระดับ BBB+ จะอยู่ที่ประมาณ 5.0%

“แนวโน้มการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ช่วงที่เหลือ น่าจะไม่เติบโตเป็นตัวเลข 10% เพราะทั้งเครดิตสเปรดเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ปรับเพิ่มทุกเซ็กเตอร์ ดังนั้นจะเห็นธุรกิจรายใหญ่หันมากู้แบงก์บางส่วน ที่โดยรวมสภาพคล่องเพียงพอรองรับสินเชื่อได้ ส่วนต้นทุนภาครัฐตอนนี้ อายุ 2 ปีอยู่ประมาณ 2.3% และอายุ 10 ปีอยู่ 2.7% ซึ่งอัตราไม่ได้ห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”นายนริศกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,987 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567