โบรกฯเกาะติดผลประชุมสมาคมแบงก์ช่วยลูกหนี้ เชื่อไม่กระทบผลประกอบการ

24 เม.ย. 2567 | 12:37 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 12:54 น.

โบรกฯ เกาะติดผลประชุมสมาคมแบงก์ช่วยลูกหนี้ คาดอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เชื่อหากเกิดขึ้นจริงไม่กระทบผลประกอบการ พร้อมมองเชิงบวกต่อ SCB และ KTB

จากประเด็นที่ทางสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมด่วนเย็นนี้ (24 เม.ย.67) เพื่อหาทางช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางเพิ่ม หวังลดภาระทางการเงิน หลังวานนี้ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่ยังฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง ภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจโลกรวม ทั้งข้อจำกัดเชิงระบบในประเทศ ปัญหาภาระหนี้สิน และ ค่าครองชีพของประชาชน ที่ทางนายกฯ ได้ขอทางธนาคารช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยให้กลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทางสมาคมธนาคารไทย นัดประชุมด่วนเย็นนี้ (24 เม.ย.67) เพื่อหาทางช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางเพิ่มนั้น เป็นประเด็นที่ตลาดเองก็มีความกังวลใจอยู่เช่นกัน แต่ทิศทางจะออกมาเป็นแบบใดก็ต้องรอดูผลการแถลงในช่วงเย็นวันนี้

แต่อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายมองว่าผลของการหารือในครั้งนี้อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยทางนายกฯ ไม่ได้ให้นิยานที่ระบุเจาะจงอย่างชัดเจนว่ากลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มใดหรือประเภทใดบ้าง เป็นโจทย์ที่เปิดกว้างมาก มีความเป็นไปได้ทั้งสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก สินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเหมือนโจทย์ที่ให้ทางธนาคารทั้ง 4 แห่งกลับไปคัดแยกและพิจารณากันเองว่ากลุ่มใดเข้าข่ายเปราะบางและต้องให้ความช่วยเหลือด้านใดและแบบใดบ้าง อย่างไรก็ดี มองว่าผลของการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้ส่งผ่านได้เร็วนัก ต้องใช้เวลาส่งผ่านอย่างน้อย 4-6 เดือนกว่าแบงก์จะมีการส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง เข้าพบนายกฯ ในครั้งนี้ มองว่าหลักๆ เพื่อเป็นการใช้กลไกตลาด เป็นการขอความร่วมมือจาก 4 แบงก์ใหญ่ เพื่อนำร่องมาตรการ และคาดหวังว่าผู้เล่นรายอื่นจะขยับตัวตาม และมองว่าหากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเกิดขึ้นจริง ก็อาจไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงต่อผลประกอบการของแบงก์มากนัก เพราะนอกจากการช่วยเหลือภาครัฐและประชาชนแล้ว แบงก์เองก็ต้องพิจารณาถึงการสร้างผลประกอบการที่ดี และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นด้วย

"ส่วนตัวมองว่าการที่ภาครัฐฯ ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้นั้นเป็นเรื่องดี เพราะต้องยอมรับว่าภาระหนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง เศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียนเท่าที่ควร ซึ่งก็ต้องไปรอดูว่าผลการแถลงของเย็นนี้จะออกไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะโจทย์ที่นายกฯ ให้มาค่อนข้างกว้าง ไม่ได้ระบุเจาะจงรายละเอียด ส่วนจะกระทบต่อผลประกอบการของแบงก์หรือไม่นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก เพราะเดิมแบงก์ก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของตนอยู่แล้ว เพียงแต่จากนี้อาจมีการคัดแยกการช่วยเหลือที่ลึกมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งหลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาของแบงก์แต่ละพอร์ตก็ไม่ได้เยอะมากจนน่าห่วง"

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ ในช่วงไตรมาส 2/2567 คาดว่าอาจชะลอตัวลงตามฤดูกาล แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 3-4/2567 จะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การลงทุนต่างๆ รวมถึงมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบที่มากขึ้นกว่าทั้งเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2567

อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายมีมุมมองเชิงบวกต่อ SCB และ KTB โดยให้ราคาเป้าหมายที่ระดับ 128.00 บาท และ 19.00 บาท ตามลำดับ ในขณะที่ BBL ทางฝ่ายยังคงค่อนข้างเป็นกังวลต่อคุณภาพของสินทรัพย์ที่ชะลอตัวลง สำหรับ KBANK ทางฝ่ายมีการปรับมุมมองในทิศทางที่ดีขึ้น แต่อยู่ระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติมเพิ่มประเมินปรับมูลค่าใหม่ที่เหมาะสม