ดาวโจนส์ปิดร่วงแรง 530.16 จุด กังวลเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนาน

05 เม.ย. 2567 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 07:00 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดไม่ควรเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,596.98 จุด ลดลง 530.16 จุด หรือ -1.35%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,147.21 จุด ลดลง 64.28 จุด หรือ -1.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,049.08 จุด ลดลง 228.38 จุด หรือ -1.40%

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีร่วงลงกว่า 1% โดยดาวโจนส์ดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566

นายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินนีแอโพลิสได้แสดงความเห็นล่าสุดเมื่อวานนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หากเงินเฟ้อของสหรัฐไม่ชะลอตัวลงตามที่เฟดคาดหวังไว้ พร้อมกับกล่าวว่าในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น เขาเป็นหนึ่งในกรรมการเฟดที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่ขณะนี้เขามองว่าหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

ขณะที่นายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ กล่าวสนับสนุนให้เฟดใช้เวลามากขึ้นในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเขามองว่าการที่เศรษฐกิจมหภาคและตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากในขณะนี้ ทำให้เฟดจำเป็นต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 86 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ฟรานซิสโก บลานช์ นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) คาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจจะทำให้เฟดเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนถึงฤดูการขับขี่ยานยนต์ในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐ และคาดว่าตลาดทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบในปริมาณ 450,000 บาร์เรล/วัน

หุ้นทุกกลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.7% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวลง 0.9% และ 0.6% ตามลำดับ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 221,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 213,000 ราย

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% สู่ระดับ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.73 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.2% สู่ระดับ 3.319 แสนล้านดอลลาร์ และการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.3% สู่ระดับ 2.630 แสนล้านดอลลาร์

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่ง ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนมี.ค.