บล.กสิกรไทย : ใครได้ ใครเสีย หาก ธปท. ลดดอกเบี้ย

21 ก.พ. 2567 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2567 | 09:14 น.
1.4 k

บล.กสิกรไทย ฟันธง ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครึ่งหลังปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ กดค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนแตะ 37 บาท /ดอลลาร์ เปิดกลุ่มธุรกิจได้-เสีย จากดอกเบี้ยลด

จากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 ระบุเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตเฉลี่ย 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 ขยายตัวต่ำเพียง 1.7% และเทียบรายไตรมาส ( QoQ) หดตัว -0.6%  ทำให้เพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) อาจพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอ 

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย  ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุด  ( 21 ก.พ.67) ว่า ข้อมูลเศษฐกิจไทยที่อ่อนแอ อาจส่งผลให้มีมาตรการผ่อนคลาย   

 

เศรษฐกิจไทยหดตัว - 0.6% QoQ ในไตรมาส 4/2566 จากการบริโภคของภาคเอกชนชะลอตัวและงบประมาณการคลังล่าช้า ประเทศไทยอาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคหาก จีดีพียังคงลดลง QoQ ในไตรมาส 1/2567 แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งกระบวนการอนุมัติงบประมาณปี 2567 ให้เร็วกว่าแผนเดิมอีก 2 สัปดาห์ (เป็น 3 เม.ย. จาก 17 เม.ย.)

แต่ในมุมมองของเราอาจยังไม่เพียงพอเนื่องจากสัญญาณของเศษฐกิจที่อ่อนแอ โดยสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อติดลบติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือนอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนม.ค. 2567 อยู่ที่ -1.1 ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงถึง 3.6% ส่งผลให้คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศษฐกิจทั้งจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินจะเพิ่มขึ้นในระยะสั้น

โดยคาดว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เนื่องจากโครงการอาจถูกเลื่อนออกไปเป็นปีงบประมาณหน้า และอาจลดขนาดลงจากอุปสรรคทางข้อกฎหมาย โดยคาดว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เป็น 2.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เทียบกับประมาณการของตลาดที่ 2.35% / 2.30%/ 2.25% ในไตรมาส 2/2567-4/2567

ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเหลือ 37 บาทต่อ USD หาก ธปท. ลดดอกเบี้ยก่อน Fed

ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 4.7% YTD เป็น 36.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดรวมการชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed จากเดือนมี.ค.ไปเป็นไตรมาส 2/2567 เทียบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ในช่วงครึ่งหลังของปี2567 ดังนั้นค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเหลือ 37 บาทต่อ USD หาก ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อน Fed ในมุมมองของเรา


 

ผู้ได้/ ผู้เสียประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 25bps น่าจะสร้าง upside ต่อกำไรเพิ่มขึ้น 1.5%-7.6% สำหรับภาคการเงิน ปิโตรฯ การท่องเที่ยว การขนส่ง IE ที่อยู่อาศัย บรรจุภัณฑ์ ICT และสาธารณูปโภค ซึ่งมีภาระหนี้สูง และน่าจะสร้าง downside ต่อกำไร -3.8%/ -7.7% สำหรับกลุ่มประกันภัย / ธนาคาร จากผลตอบแทนจากการลงทุน และส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM)

ผู้ได้/ผู้เสียประโยชน์จาก USD /THB ที่อ่อนค่า

ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงน่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก (ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล, ปิโตรเคมี,อิเล็กทรอนิกส์ และ เกษตร&อาหาร และบริษัทที่มีสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯโดยมี upside ต่อกำไร 4%-90 แต่จะส่งผลเสียต่อผู้นำเข้า (พลังงานและบรรจุภัณฑ์) และบริษัทที่มีหนี้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ (สาธารณูปโภค) โดยมี downside กำไรอยู่ที่ - 1.2% ถึง - 2.8% ทุก1 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงสำหรับเงินบาท

ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 66 เติบโตเฉลี่ยที่ 1.9% และจีดีพีในไตรมาส 4/66 ที่ขยายค่อนข้างต่ำ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะทบทวนปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งคงต้องชั่งน้ำหนัก โดยพิจารณาในเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยในและต่างประเทศ ผลกระทบต่อเงินทุนไหลออก จากแก๊ปดอกเบี้ยที่ยิ่งห่าง ความผันผวนต่อค่าเงินบาทที่จะทำให้อ่อนค่ามากขึ้น  อย่างไรก็ดี มองว่า ธปท.อาจพิจารณาใช้กลไกนโยบายการเงินอื่นในการเพิ่มสภาพคล่องในระบบแทนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน 

"แม้ภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนแอ แต่เป็นปัญหาเฉพาะส่วน จากงบลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว ตามงบประมาณที่ออกมาช้ากว่ากำหนด แต่ยังมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาททั้งทางตรงและทางอ้อม  ในกลุ่มส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการแพทย์ "