ดร.นิเวศน์ : เสือร้องไห้

05 ก.พ. 2567 | 05:05 น.
1.5 k

การปิดกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” ซึ่งน่าจะเป็นกองแรก ๆ ของไทยซึ่งนักลงทุนจำนวนมากก็อาจจะ “เพิ่งรู้จัก” ตอนที่ประกาศปิด คือ “กองทุนต้นโพธิ์”

ทำให้ผมระลึกถึงกองทุน  “เฮดจ์ฟันด์” กองแรก ๆ  ของโลกคือกองทุน “Tiger Fund” ของ Julian Robertson นักลงทุน “ในตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตในวัย 90 ปี เมื่อ 2 ปีก่อน

ข้อแรกก็คือ  ไทเกอร์ฟันด์ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 ที่คนก็ยังแทบไม่รู้จักเฮดจ์ฟันด์  โดยช่วงที่ก่อตั้งนั้นใช้เงินของครอบครัวบวกกับญาติและมิตรสหายแค่ 8 ล้านดอลลาร์  แต่พอถึงปี 1998 ก่อนปิดกองทุนในปี 2000-01  พอร์ตก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดและมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญ กลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีถึง 32% หลังหักค่าธรรมเนียม ในเวลายาวนานถึง 18 ปี

เท่าที่ผมทราบอย่างไม่เป็นทางการ กองทุนต้นโพธิ์เปิดในปี 2548 และก็เริ่มต้นลงทุนด้วยเม็ดเงินของครอบครัวผู้ก่อตั้งญาติสนิทและมิตรสหายเหมือนกัน  และในช่วงเวลาประมาณ 14-15 ปีก่อนที่จะปิดตัวในปีนี้คือน่าจะประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว กองทุนก็น่าจะมีพอร์ตในระดับ “หมื่นล้านบาท” สร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีสูงมาก  อาจจะปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

ข้อสอง Robertson เป็นนักลงทุนแบบ “VI เข้มข้น” ในช่วงที่บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกันกำลังพุ่งขึ้นแรงติดอันดับคนรวยที่สุดของประเทศและแนวคิด “Value Investments” กำลังเป็นที่นิยมและ “ร้อนเป็นไฟ” อานิสงส์จากการที่บัฟเฟตต์บอกสังคมว่าตนเองเป็น “VI”

 

กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น  ก็น่าจะบริหารด้วยแนวคิดแบบ “VI” เหมือนกัน เห็นได้จากการที่กองทุนมักจะถือหุ้น “VI” จำนวนมากและหลาย ๆ  ตัวนั้นก็เป็นตัวเดียวกับที่  “เซียน VI” ชื่อดังและ “พอร์ตใหญ่” ของตลาดหุ้นไทยถือ

ข้อ 3 ช่วงที่บูมสุดขีดของ Tiger Fund น่าจะประมาณปี 1994-1998 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของกองทุนนั้น  ดัชนีดาวโจนวิ่งขึ้นไปเป็น “กระทิง” คือขึ้นไปจากประมาณ 3,600 จุด เป็น 9,000 จุดเป็นการปรับตัวขึ้นไป 149% หรือเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 26% ในเวลา 4 ปี  เป็น  ปีทองของตลาดหุ้นและน่าจะเป็น “ปีทองของหุ้น VI” ในอเมริกา

กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น  วันที่ก่อตั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 จุด  และในช่วงที่เป็น  “ยุคทองของ VI” คือหลังจากปี 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม  และดัชนีหุ้นตกลงมาถึงประมาณ 400-500 จุด แล้วก็เด้งขึ้นอย่างแรงติดต่อกันประมาณ 4 ปี จนถึงปี 2556 ที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,600 จุด เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 300% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 34% และนั่นก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้กองทุนต้นโพธิ์เติบโตโดดเด่นที่สุด  เช่นเดียวกับนักลงทุน VI ส่วนบุคคลที่ร่ำรวยและหลายคนกลายเป็น “เซียน VI” ในยุคนั้น

ข้อ 4  กองทุน Tiger ล่มสลายในปี 2000 ต่อ 2001 โดยที่เป็นปีวิกฤติหุ้นไฮเท็ค  อย่างไรก็ตาม  กองทุน Tiger นั้นเป็นกองทุน “VI” และก็ถือหุ้นไฮเท็คน้อยและไม่ได้ขาดทุนหนักจากไฮเท็ค  แต่ประสบกับปัญหาความผิดพลาดครั้งใหญ่ในการลงทุน  เฉพาะอย่างยิ่งถือหุ้น US Airways ซึ่งเป็นสายการบินจำนวนมหาศาลถึง 25% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทและหุ้นตัวนั้นประสบปัญหาใหญ่ล้มละลายในที่สุด  และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ  ขาดทุนจากค่าเงินเยนซึ่งช่วงนั้นผันผวนหนัก

กองทุนต้นโพธิ์นั้น  ผมเชื่อว่ามีการลงทุนแบบ VI ที่ “Focus” มาก คือถือหุ้นใหญ่ ๆ  ไม่กี่ตัวและมีสัดส่วนมากของพอร์ต  นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ “เซียน VI” แทบทุกคนในประเทศไทยใช้  ซึ่งก็ทำให้หลายคน “รวยไปเลย” ในยามที่บรรยากาศของการเก็งกำไร “ร้อนแรงเป็นไฟ”  อย่างที่เห็นในช่วงหลายปีก่อนจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้

ข้อ 5 เมื่อปิดกองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือ NAV ของกองทุน Tiger ลดลงมากมาย  เหลือแค่ 1.3 พันล้านเหรียญ  ทำให้คนถือหน่วยขาดทุนอย่างหนักจากที่กองทุนเคยมีกำไรสูงถึง 2 พันล้านเหรียญในช่วงเวลาหนึ่ง และนั่นก็คือ  “หายนะ” ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

กองทุนต้นโพธิ์นั้น  ดูเหมือนว่าการปิดกองทุนเป็นไปอย่างช้า ๆ  และน่าจะมีการคิดคำนึงมานานพอสมควรว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ตลาดหุ้นไม่ได้ไปไหนมานานและโอกาสที่จะดีขึ้นนั้นน้อย  ดังนั้น การลงทุนต่อไปก็คงจะไม่เกิดผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งก็รวมถึงผู้บริหารและครอบครัวด้วย  ดังนั้น  มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิที่เหลืออยู่ตามข่าวที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากที่ผมคาดเดาว่าน่าจะเคยอยู่ถึงหลักเกือบหมื่นล้านบาทจึงน่าจะพูดได้ว่าไม่ถึงกับ  “หายนะ” และก็ยังน่าจะสูงกว่าเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในวันแรกเมื่อประมาณ 19-20 ปีที่แล้ว

เม็ดเงินที่  “หายไป” นั้น ผมไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่ก็คาดว่าเป็นการผิดพลาดในการลงทุนครั้งใหญ่ในหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัว  ซึ่งมาพบภายหลังว่าหุ้นอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดและเมื่อยุคของ “การเก็งกำไรในหุ้น VI” ที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายปีจบลง  คอร์เนอร์หุ้น  “แตก” การขาดทุนก็รุนแรงมากและดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวได้ยาก พอร์ตจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  และสถานการณ์การลงทุนแบบเดิมคงไม่กลับมาอีก หนทางที่ดีที่สุดคือการปิดตัวลง

ข้อ 6 ผู้บริหารกองทุน Tiger คือ Robertson ไม่ได้ “เจ๊ง” ตามกองทุนไปด้วย  เขายังมีเงินส่วนตัวที่ได้รับจากการบริหารกองทุนเกือบทุกปี ว่าที่จริง  ในรอบ 20 ปีนั้น  มีเพียง 4 ปีที่พอร์ตลงทุนขาดทุน  ดังนั้น เขาคงได้ส่วนแบ่งกำไรมาค่อนข้างมากและดังนั้นเขาก็ “สู้ต่อ” โดยการสนับสนุนลูกน้องในบริษัทออกไปตั้งกองทุนหลาย ๆ  กองที่ต่อมาเรียกว่า “กองทุนลูกเสือ” หรือ “Tiger Cub” โดยที่เขาเข้าไปร่วมลงทุนและเป็นที่ปรึกษาในบริษัทจัดการกองทุนแต่ละบริษัทด้วย

กองทุน “ลูกเสือ” เหล่านั้นยังใช้หลักการแบบ VI ตามกองทุนเสือหรือ Tiger Fund หลาย ๆ  กองประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้  ตัว Julian Robertson เองก็ยังบริหารเงินของตนเอง  อาจจะผ่านกองทุนลูกเสือด้วย  และก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างสูง  ก่อนตายเขามีความมั่งคั่งประมาณ  4.8 พันล้านเหรียญหรือ 170,000 ล้านบาท  ไม่นับเงินที่บริจาคไป 2 พันล้านเหรียญ  และเขารอดจากหายนะในวิกฤติซับไพร์มปี 2008

Robertson  คล้ายกับนักลงทุนในตำนานคนอื่น  เช่นบัฟเฟตต์ที่รักการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ  เขาเริ่มสนใจในหุ้นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ  ตายเมื่ออายุ 90 ปีและกลายเป็น “ตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเริ่มดังและเป็นที่นิยมในปี 1986 หลังจาก  “Institutional Investor” วารสารนักลงทุนชื่อดัง ลงบทความผลงานสุดยอดของไทยเกอร์ฟันด์

ผมไม่รู้ว่าผู้บริหารของกองทุนต้นโพธิ์จะทำอะไรต่อไป  ถ้าให้ผมทาย ก็คงต้องลงทุนต่อไป  เพราะ “คนที่เกิดเป็นนักลงทุนแล้ว  ก็ต้องเป็นนักลงทุนต่อไป” เพียงแต่อาจจะต้อง “เปลี่ยนกลยุทธ์” แต่ก็คงไม่เปลี่ยนปรัชญาหรือแนวทางหลักที่เคยใช้มานาน  ในกรณีของ Robertson  สิ่งที่เขาเปลี่ยนนั้น  น่าจะอยู่ที่การจัดการกับ “ความเสี่ยง” ที่จะยอมรับได้ในการลงทุน  เพราะใน

อดีตที่แทบจะฆ่าเขานั้น  ก็เป็นเพราะว่าเขาอาจจะมั่นใจอะไรมากเกินไปในความสำเร็จของตนเองจนทำให้ไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ว่าโอกาสจะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม

และทั้งหมดนั้นก็เป็นบทเรียนให้กับนักลงทุน VI ที่เป็นบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกันที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุนเท่า ๆ กับหรือมากกว่าผลตอบแทนที่ดีเลิศที่มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงลิ่ว