KKP กำไรปี66 เหลือ 5.4 พันล้าน หด 28% ขาดทุนจากธุรกิจขายรถยึด

22 ม.ค. 2567 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 08:20 น.
685

KKP รายงานงบปี 66 กำไรสุทธิ 5,443 ล้านบาท ลดลง 28.4% ขาดทุนจากการขายรถยึด และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยหดตัว 23.5% เหตุธุรกิจตลาดทุนซบเซา ด้านรายได้รวมอยู่ 28,763 ล้านบาท เติบโต 4.4% โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิโต 16.8%

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 ว่า ธนาคาร ฯ และบริษัทย่อยมีผลประกอบการที่ปรับลดลง โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิต และผลขาดทุนจากการขายรถยึดในส่วนของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงและปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อ ประกอบกับการที่ ธนาคารมีการขยายตัวของสินชื่อในระดับที่สูงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งยังมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของธนาคาร ส่งผลให้ธนาการได้รับผลกระทบที่ก่อนข้างมาก

ในขณะที่ธุรกิจทางด้านตลาดทุนได้รับผลกระทบเช่นกันจากภาระตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย รวมแล้วส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 5,443 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 2566 เท่ากับ 5,452 ล้านบาท

KKP กำไรปี66 เหลือ 5.4 พันล้าน หด 28% ขาดทุนจากธุรกิจขายรถยึด
 

ทั้งนี้สำหรับปื 2566 ธนาคารยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับที่ดีโดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 28,763 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 หากเทียบกับปี 2565 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ  16.8 ตามปริมาณสินเชื่อที่ขยายตัวและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยสินเชื่อรวมปี 2566 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีการปรับขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธนาคารยังคงมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในระดับที่ดีกว่าคาดการณ์  

ในขณะที่ทางด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงที่ร้อยละ 23.5 จากภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซาและส่งผลกระทบต่อการลงทุน ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงโดยหลักจากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่ปรับลดลงตามภาวะตลาด ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าประกันปรับลดลงเช่นกันตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หากไม่รวมรายการที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินรอการขาย ธนาคารยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ในระดับที่ดี ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ สำหรับปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่แสดงถึงการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

สำหรับไตรมาส 4/2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 670 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.2 จากงวดเดียวกันของปี 2565 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 71 ล้านบาท โดยหลักจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ปรับลดลงร้อยละ 46.8 จากไตรมาส 4/2565 ซึ่งลดลงทั้งในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและ บริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน โดยหลักปรับเพิ่มขึ้นจากรายการขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย ทั้งนี้จากการที่ ธนาคารได้มุ่งเน้นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเดรดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2566 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 30.9 หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมเท่ากับ 857 ล้านบาท เป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 46 ล้านบาท