KTB กำไรสุทธิปี 66 โต 8.7% แตะ 3.66 หมื่นล้าน NPL ต่ำ 3.08%

19 ม.ค. 2567 | 23:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 08:28 น.

KTB อวดกำไรสุทธิปี 66 ขยายตัว 8.7% แตะ 3.66 หมื่นล้านบาท และรายได้รวมจากการดำเนินงานโต 19.2% จากปีก่อน ขณะที่ NIM ที่ขยับขึ้นมาเป็น 3.22% เทียบกับ 2.60% ในปีก่อน เป็นผลจากทั้งการปรับ portfolio ฟุ้ง NPLs Ratio ลดลงอยู่ที่ 3.08% ตามการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อ

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อนที่ 33,698 ล้านบาท ผลจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมทางการเงินมาสร้างมูลค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน”

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 19.2% ทั้งจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างระมัดระวังในกลุ่มที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเล็กน้อย 1.5% แม้สินเชื่อรวมปรับตัวลดลง 0.6% จากสินเชื่อภาครัฐ และการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด

โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมลูกค้าในทุกภาคส่วน และเพื่อพร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต ทั้งนี้ จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio อยู่ที่ 41.6% ลดลงจาก 43.7% ในปีก่อน โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงในทุกมิติอย่างรอบคอบ โดยหากรวมสำรองที่ได้ปรับปรุงระหว่างปี (one-time adjustment) ด้วยแล้ว Coverage ratio ของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 190% เมื่อเทียบกับ 179.7% ในปีก่อน นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/2566 ธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่ำลง พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อเนื่อง ทำให้ NPLs Ratio ลดลงอยู่ที่ 3.08% หรืออยู่ที่ระดับ 99,439 ล้านบาท

ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 37,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.4% โดยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

ในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ของธนาคารและบริษัทย่อย อยู่ที่ 113,419 ล้านบาท ขยายตัว 25.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของสินเชื่ออย่างระมัดระวังในกลุ่มที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยอัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) อยู่ที่ 3.22% เทียบกับ 2.60% ในปีก่อน เป็นผลจากทั้งการปรับ portfolio ของธนาคาร ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินปรับตัวเป็นอัตราปกติ

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนของธนาคารและบริษัทย่อย อยู่ที่ 20,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากค่าธรรมเนียม Bancassurance และค่าธรรมเนียมบริการบัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ในปี 2566 ของธนาคารและบริษัทย่อย อยู่ที่ 15,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ จากหนี้สูญรับคืน และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย

เงินรับฝากในปี 2566 ของบริษัทอยู่ที่ 2,646,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินฝากประจำ โดยมีสัดส่วนเงินฝากจ่ายคืนเมื่อทวงถาม และเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินฝากรวม (CASA) ในระดับสูง ที่ 80% ธนาคารและบริษัทย่อยมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) ต่อเงินรับฝาก ที่เท่ากับ 97.34% ลดลงจาก 100.10% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 17.46% และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นที่ 20.65% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

สำหรับปี 2567 ธนาคารกรุงไทยมุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” เช่น การใช้ AI มาประกอบการทำงาน รวมถึงให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทั่วไป และมาตรการเฉพาะจุด โดยเฉพาะดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถประคองตัว และรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้พร้อมให้ความสำคัญการให้สินเชื่อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

ส่งเสริมการเข้าถึงการเงินในระบบ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินตัว ตามแนวทางการแก้หนี้ยั่งยืน หรือ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย ครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังและเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว รวมถึงการให้ความรู้ส่งเสริมวินัยทางการเงิน ทั้งการออม การลงทุน และการป้องกันภัยทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางการเงินอย่างมั่นคงต่อไป