BAYกำไรสุทธิพุ่ง 3.29 หมื่นล้านบาท NIM 3.91%

19 ม.ค. 2567 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 07:14 น.

BAY เปิดกำไรสุทธิปี 2566 พุ่ง 3.29 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.2% จากปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ขยายตัว ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ มาอยู่ที่ 3.91% จากปีก่อน เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขยายตัว 3.4%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,216.01 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.2% จากปี 2565 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อันเป็นผลมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนการบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวังของธนาคาร

เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา กำไรสุทธิอยู่ที่ 7,732 ล้านบาท ลดลง 364 ล้านบาท หรือ 4.5% ปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวังสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่งในไตรมาส 4/2566 แต่หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้น 4.6% หรือ 340 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2,017,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67,795 ล้านบาท หรือ 3.5% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อรายย่อยจากการควบรวมกิจการบริษัทลูกต่างประเทศแห่งใหม่ หากไม่รวมธุรกิจในต่างประเทศที่เพิ่งควบรวมกิจการ เงินให้สินเชื่อรวมจากการดำเนินงานตามปกติเพิ่มขึ้น 16,0611 ล้านบาท หรือ 0.9%

เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 34,909 ล้านบาท หรือ 1.9% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สุทธิด้วยการลดลงของเงินรับฝากออกทรัพย์ 

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.53% เทียบกับ 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จากการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวังของธนาคาร โดยเฉพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 175 เบสิสพอยท์ โดยอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 149.1% เทียบกับ 167.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.24% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 99,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,612 ล้านบาท หรือ 18.6% จากปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) 46 เบสิสพอยท์ มาอยู่ที่ 3.91% จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ 114 เบสิสพอยท์ มาอยู่ที่ 5.48% ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 78 เบสิสพอยท์

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6,920 ล้านบาท หรือ 21.2% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากบริษัทลูกในต่างประเทศกำไรจากเครื่องทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และหนี้สูญรับคืน

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในปี 2566 อยู่ที่ 29,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,975 ล้านบาท หรือ 20.5% จากปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากการควบรวมธุรกิจใหม่ในปี 2566 ค่าธรรมเนียมบริการบัตรตามยอดการใช้จ่ายเร่งตัวขึ้นสอดคล้องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเช่าซื้อตามการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 อยู่ที่ 35,617 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมที่ 175 เบสิสพอยท์ เทียบกับ 136 เบสิสพอยท์ ในปี 2565 ปัจจัยหลักจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ภายใต้หลักการบริหารความเสี่ยงและการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวัง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าจะมีการเติบโตที่ระดับ 2.5% ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศจากแรงสนับสนุนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และมาตราการสนับสนุนของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบต่อแนวโน้มข้างต้น ได้แก่ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้ง และความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์