ดอกเบี้ยนโยบาย กำไรธนาคาร ในมุมมอง อ.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์

11 ม.ค. 2567 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2567 | 07:21 น.
1.4 k

วิเคราะห์สถานการณ์ร้อน ดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และกำไรของธนาคาร ที่พุ่งสูงทะลุ 2 แสนล้าน ความเหมาะ และทางออก ในมุมมอง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์

ประเด็นร้อนเรื่องกำไรธนาคารพุ่งทะลุ 2 แสนล้านบาท กอรปกับสถานการณ์ดอกเบี้นนโยบายที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และคงที่ในระดับสูง จนทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงกรณีดังกล่าว อ.สมชายมองว่า ระดับดอกเบี้นนโยบายในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเดิมประเทศไทยมีดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ขณะที่ตลอดระยะ 2ปีที่ผ่านมาต่างประเทศ มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างมหาโหด จากเหตุการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เรื่องของสงครามเรื่องของพลังงานพลังงาน

โดยประเทศสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0-0.25 % เป็น 5.25-5.5 % ส่วนดอกเบี้ยนโยบายในยุโรปปรับขึ้นจาก -0.5 % เป็น 4.5% สำหรับประเทศไทยปรับขึ้นมา 2% จาก 0.5 % เป็น 2.5 % 

เมื่อท้าวความถึงสาเหตุที่ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นนั้น ก็เพราะสหรัฐอเมริกาทราบดีว่า การที่มีระดับเงินเฟ้อสูง หากไม่ปราบเงินเฟ้อ จะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่เป็น 10 ปี เหมือนเหตุการณ์ในอดีต นี่จึงเป็นเหตุผลเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษที่จะต้องกดระดับเงินเฟ้อลง  

ซึ่งต้นทุนของการกดเงินเฟ้อลงนั้น ก็คือการที่เศรษฐกิจอาจตกต่ำลงได้ เพราะเมื่อดอกเบี้ยสูงส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้น เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องยอม

แต่หากมีความอัศจรรย์เกิดขึ้น  ที่เมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะ recession จะเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า soft landing ซึ่งแน่นอนว่าหากเลือกได้ย่อมต้องการให้เกิดการ soft landing มากกว่า แต่หากไม่สามารถทำให้เป็นเช่นนั้นได้ ก็จำเป็นต้องเลือกการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา  นักเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศจำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะย่ำแย่ อเมริกาและยุโรปจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย อ.สมชายระบุต่อไปว่า ในครั้งนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg จำนวน 30 คน วิเคราะห์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจทดถอยจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 

แต่สุดท้ายสถานการณ์เป็นไปตามการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ เพราะไม่เกิดการ recession ขึ้นจริง ในยุโรปเกิดการ soft landing คือสามารถปราบเงินเฟ้อลงมาได้ถึง 3%  จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนในสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจขยายตัว 2.5 ซึ่งถือว่าดีมาก และในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5 

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ของประเทศไทย รศ.ดร. สมชาย ระบุว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ เพราะเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงเยอะมาก และอีกประเทศคือประเทศจีน ที่มีการแทรกแซงโดยรัฐบาล

การที่ประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นนักลงทุนจะหันไปซื้อสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์ ทำให้ตลาดหุ้นตก กระทบต่อตลาดพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กระทบค่าเงิน

นี่จึงเป็นความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นธรรมชาติของทุกประเทศที่จะมีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง หรือนักลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย

อีกหนึ่งประเด็นที่ตามมาก็คือ ข้อวิจารณ์เรื่องกำไรของแบงก์พาณิชย์ ที่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ที่กำลังย่ำแย่ SME ประสบปัญหาอยู่ 

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ได้เคยปรากฏอยู่ในประเทศอิตาลี ,สเปน และสหภาพยุโรป มาตั้งแต่ 1-2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้เขย่งขึ้นไปมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก 

ในประเทศอิตาลีได้มีการเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) การเก็บ Windfall Tax นี้ ส่งผลให้หุ้นตก และเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก เรียกว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

อ.สมชายเล่าถึงสาเหตุที่ประเทศอิตาลีเลือกใช้วิธีนี้ เป็นเพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายขวาจัด และมีนโยบายที่ค่อนข้างสุดโต่ง 

สำหรับสถานการณ์เรื่องกำไรธนาคาร และอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ สิ่งที่ต้องระวังคือ การตีความเรื่องกำไรของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะมี ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) 

ซึ่งผู้คนจะตกใจกับส่วนต่างดังกล่าวนี้ว่า มีค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงกำไรธนาคารต้องวัดด้วย ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM) ซึ่งคำนวณจาก รายได้ดอกเบี้ยรับ หักรายจ่ายดอกเบี้ย แล้วหารด้วยสินทรัพย์เฉลี่ย 

ข้อมูลตัวเลข NIM ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2011- 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.48% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.88% ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3% ,เวียดนาม 3% และอินโดนีเซีย 5% สำหรับประเทศที่มี NIM ต่ำกว่า ประเทศไทย คือประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย อยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งระดับของ NIM จะมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากความเสี่ยงและการบริหารร่วมด้วย 

อ.สมชายวิเคราะห์แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายว่า จะคงอยู่ในระดับนี้ ไปจนถึงช่วงครึ่งปี ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้องให้เกิดความมั่นใจว่าสามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้แล้วแน่นอน ดังนั้นส่วนตัวมีความเห็นว่า ธปท. คงจะมีการลดดอกเบี้ย อย่างช้าที่สุดเป็นช่วงครึ่งปีหลัง เพราะปัจจัยของเงินเฟ้อที่ปรับลดลง 

สำหรับทางออกของปัญหาเรื่องดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่วิจารณ์กันได้ แต่หากมองอีกมุมว่าธนาคารมีกำไรท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ถือว่าธนาคารของไทยมีความสามารถ ที่อยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ

สิ่งที่ทำให้ธนาคารของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง เป็นเพราะ ธนาคารมีบทเรียนจากวิกฤติในอดีต และธปท. มีการควบคุมที่ดี 

ธนาคารเองมีเงินกองทุนซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องมีไว้เพื่อรองรับความเสียหายที่เกิดจากดำเนินธุรกิจ (BASEL III) และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR)ในระดับสูง ธนาคารบางแห่งสูงถึง 20% จากอัตราปกติที่ 12% มีข้อดีคือช่วย สร้างเสถียรภาพของระบบการเงิน รองรับความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแง่ดี เห็นได้จาก เหตุการณ์ธนาคารล้มหลายแห่งในปีที่ผ่านมา

รศ.ดร. สมชาย มองว่ากลไกที่ออกโดย ธปท. คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อยหรือ  Risk-based pricing (RBP) สามารถแก้ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ โดยลูกหนี้ที่มีประวัติดี มีความเสี่ยงต่ำสามารถได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 

ส่วนลูกหนี้ที่ประวัติการชำระหนี้ไม่ดี หรือมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าจะขอสินเชื่อจากธนาคารได้ในอดีต กลไกนี้อาจช่วยให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ย่อมต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ เป็นการช่วยลูกหนี้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยไม่เป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป

ทั้งนี้ อ.สมชาย ได้อธิบายถึงภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยว่า เงินเฟ้อทั่วไปที่มีการติดลบนั้น เนื่องมาจากรัฐบาลมีการควบคุมค่าไฟฟ้า จึงทำให้ราคาสินค้า  ราคาอาหารถูกลง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะเงินฝืด แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกอยู่