ศึกดอกเบี้ย การเมืองต้องไม่ แทรกแซงแบงก์ชาติ

10 ม.ค. 2567 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 16:36 น.

ศึกดอกเบี้ย การเมืองต้องไม่ แทรกแซงแบงก์ชาติ คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,956 วันที่ 11-13 ม.ค.2567 โดย...กาแฟขม

เปิดศักราชใหม่มาผ่านวาระแรก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ไปแบบฉลุย แต่มีเรื่องราวดราม่าให้ถูกพูดถึง เมื่อมีการเปิดตัวเลขกำไรแบงก์ทั้งระบบมากถึง 2 แสนล้าน ขณะที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด ฝืดเคืองหน้าเหลืองซีดเซียวชักหน้าไม่ถึงหลัง คนก็มองว่าแบงก์โขกกำไรเอาๆ คนไม่มีเงินปรับพฤติกรรมแม้กระทั่งการซื้อข้าวสารกรอกหม้อในชนบท จากซื้อคราวละ 5 กิโล เหลือคราวละกิโล ทั้ง อาหารคน อาหารแมว เป็นเรื่องเปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เกิดดราม่าขึ้น ก็เป็นเหตุให้สังเกตได้

ตำบลกระสุนตก จึงไปอยู่กับแบงก์ชาติ เมื่อพูดเรื่องดอกเบี้ย ปล่อยธนาคารพาณิชย์ฟันเอาๆ ไม่กำกับดูแล นายกฯ เศรษฐา ก็ใส่มาตูมใหญ่ จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือน ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย อยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะตํ่าไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับ เงินเฟ้อนะครับ

สำทับตามมาด้วยประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจใหญ่อย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ รมว.คลัง ฟาดเปรี้ยงการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ เป็นเรื่องที่เคยพูดมาตลอดตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลในเดือน ส.ค. 66 และไม่เคยหยุดพูดเรื่องดอกเบี้ยสูง ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นโอกาสในการทำรายได้สูงขึ้นของสถาบันการเงิน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ขยับเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ตอนดอกเบี้ยขึ้นมาในช่วงแรกๆ ไม่อยากวิจารณ์ ทั้งๆ ที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว แต่พอขึ้นต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งอยู่ในจุดที่เกินความพอดีไปมากแล้ว ไม่ใช่ยึดหลักคุมเงินเฟ้อ ไปทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่แล้ว เงินเฟ้อติดลบแล้ว ว่าไป บลาๆๆ วันที่ 7 ก.พ.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุม หวังว่าจะเป็นฟางเส้นแรกๆ ที่ถูกถอนออกจากนํ้าหนักที่กดทับ ทำให้เบาลงได้ เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยที่มาก และ เร็วเป็นทางรอด เพราะแม้จะกำหนดการประชุมล่วงหน้า แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นสามารถจัดประชุมนอกรอบได้

ข้างแบงก์ชาติเคยชี้แจงประเด็นการคำนวณเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ทุกอย่างได้คำนวณรวมกลไกที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ ในทางเศรษฐกิจไว้เสร็จสรรพเรียบร้อย

ฟังทางโบรกเกอร์เขาบ้าง ก็วิเคราะห์ให้เห็นว่า ธนาคารจะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 รวม 5.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% ประมาณการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน สะท้อนถึงผลกระทบของฐานที่ตํ่า เมื่อธนาคารบางแห่งตั้งสำรองสูงเป็นพิเศษในไตรมาส 4/65 ไตรมาสนี้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2bps YoY เป็น 3.1% จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ และควรเป็นไตรมาสสุดท้ายของการขยาย NIM ตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป ธนาคารน่าจะเห็นแรงกดดันเรื่อยๆ จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับราคาเงินฝากประจำทำให้ NIM เริ่มลดลง ...เห็นไหมที่กำไรบานนี่เขาบอกว่า มาจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ แต่ระยะต่อไปประมาณว่าจะลดลงแล้วแหล่ะ

พูดเรื่อง “ดอกเบี้ย” ความเห็นต่างระหว่างรัฐบาล กับ แบงก์ชาติทีไร มักมีข่าวลือเป็นระยะๆ เรื่องตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติทันที และแน่นอนข่าวแบบนี้ มันจะไปกระทบกับเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นของตลาดเงิน ตลาดทุน เพราะในอดีตก็มีบทเรียนกันให้เห็นมาแล้ว เมื่อยืนแข็งกันทั้งคู่ ก็แตกหักตามมา แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าไปถึงขั้นนั้น โปรดอย่าได้ลือให้ตระหนก ในโลกข่าวสารอันรวดเร็ว การสร้างความเชื่อมั่น การไม่แทรกแซงทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ พึงระวัง ผู้คนไม่เฉพาะไทย แต่ทั้งโลกที่ปฏิสัมพันธ์กับตลาดไทย พวกนี้ตัดสินใจรวดเร็ว ถอยพรวดขึ้นมาก็จบเห่...เอวัง