สงครามรอบใหม่ “รัฐบาล-ธปท.” ศึกครั้งนี้จะจบอย่างไร

10 ม.ค. 2567 | 16:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 16:37 น.

สงครามรอบใหม่ “รัฐบาล-ธปท.” ศึกครั้งนี้จะจบอย่างไร บทบรรณาธิการ

ความไม่ลงรอยระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำรัฐบาลกับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจและกำกับดูแลสถาบันการเงิน ปะทุขึ้นอีกครั้ง

ครั้งนี้เป็นความเห็นที่แตกต่างในประเด็นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธปท. ภายใต้มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ต่อเนื่อง 8 ครั้ง รวม 2.00% จนถึงเดือนกันยายน 2566 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.50%

ผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ย่อมส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงิน ที่เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ กับ ดอกเบี้ยเงินฝาก (Interest Rate Spead) สูงขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้หลายคนมองว่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทย กำไรอู้ฟู่ และ กำลังตกเป็นจำเลยของสังคมในขณะนี้

 

โดยเฉพาะหลังจากนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ออกมาทวีตข้อความว่า จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนว่า “ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจต่ำไปก็ได้ และหวังว่า แบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

แถมยังถูกสุมไฟจาก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาโพสต์ข้อความรัวๆ ว่า “ลดดอกเบี้ยให้เร็วและมาก คือ ทางรอด” หรือจะเป็น “ธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ รวมหัวกัน “ทำกำไรสูง” บนความวินาศของลูกค้า…ถือว่าน่ารังเกียจนัก และที่น่าตำหนิที่สุดคือ “ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง” ที่ (ไม่) กำกับดูแล”

 

กลายเป็นฟืนชั้นดีที่โหมให้กระแสสังคมลุกโชน พร้อมๆกับถามหาความรับผิดชอบจากธปท.หรือแบงก์ชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับสถาบันการเงินว่า จะออกมาแสดงท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายพยายามอธิบายว่า กำไรธนาคารที่ออกมานั้นไม่ได้สูงผิดปกติ เพราะถ้าเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไปจากอัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุน หรือ ROE หรือตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM ไม่ได้สูงขนาดนั้น

ความไม่ลงรอยระหว่าง “รัฐบาล-ธปท.” หรือระหว่าง “เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ” ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหลังจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของ“เศรษฐา ทวีสิน” พร้อมประกาศขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท “เศรษฐพุฒ” ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ได้ออกมาทักท้วงว่า การดำเนินการในลักษณะนี้ จะเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 หรือไม่ ขณะเดียวกัน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินฝืด และเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะหลังรัฐบาลตัดสินใจที่ออกกฎหมายกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องกระตุ้น ผู้ว่าการ ธปท.ยังเป็นคนขอสงวนสิทธิ์ไม่ลงมติในที่ประชุมอีกด้วย