“แบงก์ชาติ” เปิดเวทีเคลียร์ปมข้องใจนโยบาย “ดอกเบี้ย”

10 ม.ค. 2567 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 16:55 น.
523

แบงก์ชาติ เปิดเวทีแถลงแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ เคลียร์ข้อข้องใจ นโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน พร้อมแนวทางแก้หนี้แบบยั่งยืน สัปดาห์หน้า

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ได้แจ้งสื่อมวลชนถึงกำหนดการจัดงานของ ธปท. ในช่วงสัปดาห์หน้า โดยมีเรื่องสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปิดเวทีเพื่อแถลงแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ คืองาน BOT Policy Briefing ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออธิบายแนวคิดของ ธปท. ในวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 10.00 – 11.30 น. 

ทั้งนี้ภายในงานจะมีผู้บริหาร 3 คน โดยมี ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน, สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน เป็นผู้แถลงข้อมูล

สำหรับผู้บริหารธปท.ทั้ง 3 คนที่จะแถลงในงาน BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 ถือว่าเป็นผู้บริหารที่รับผิดชอบงานสำคัญในธปท. โดยแต่ละฝ่ายมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

 

“แบงก์ชาติ” เปิดเวทีเคลียร์ปมข้องใจนโยบาย “ดอกเบี้ย”

สายนโยบายการเงิน 

มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางทุกแห่งคือ การกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้

ทั้งนี้ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย คือ เสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยตัวแปรสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินคือ การปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและบริการ หรือ “อัตราเงินเฟ้อโดยอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

ธปท. จึงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ หรือที่เรียกว่า การดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)

โดยภายใต้กรอบดังกล่าว ธปท. จะผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบาย ทั้งเครื่องมือนโยบายการเงิน มาตรการทางการเงิน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้บรรลุทั้งสามเป้าหมายของนโยบายการเงิน เนื่องจากทุกเครื่องมือมีผลเชื่อมโยงกัน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยค่าเงินบาทถูกกำหนดโดยกลไกตลาด และ ธปท. จะเข้าดูแลในกรณีที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป

 

“แบงก์ชาติ” เปิดเวทีเคลียร์ปมข้องใจนโยบาย “ดอกเบี้ย”

สายกำกับสถาบันการเงิน 

มีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และนโยบาย หลักเกณฑ์ รวมถึงกำกับตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ ฐานะมั่นคง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ 

การกำหนดนโยบายสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน โดยกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินโดยเน้นที่หลักการเป็นที่ตั้ง (principle based) และกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง (risk proportionality) รวมถึงจัดเตรียมกลไกรองรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในภาวะวิกฤต (recovery and resolution)

ส่วนการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จะติดตามฐานะการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาคำขออนุญาต ตลอดจนกำกับดูแลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม

รวมทั้งการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กำหนดภูมิทัศน์ภาคการเงินให้มีความสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเอื้อให้ภาคการเงินปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ทัน และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

ส่วนฝ่ายตลาดการเงิน จะรับผิดชอบงาน ที่ครอบคลุม โครงสร้างตลาดการเงินไทย ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงินและตลาดพันธบัตร การพัฒนาและมาตรฐานตลาดการเงิน หลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน การบริหารเงินสำรอง

นอกจากนี้ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 13.00 - 14.00 น. ธปท.ยังจัดงาน Media Briefing หัวข้อ แบงก์ชาติชวนคุย เรื่องแก้หนี้ยั่งยืน โดยมี ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษก ธปท. และ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน เป็นผู้แถลงข้อมูล