ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นช่วงที่กรมสรรพากร เปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2566 โดยผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปี ไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นทางภาษีตามกฎหมาย แต่หากมีรายได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาทต่อปี จะมีอัตราเสียภาษีแบบขั้นบันได
โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2566 สามารถยื่นได้ 2 ช่องทาง ซึ่งจะมีกรอบระยะเวลาการยื่นภาษีไม่เท่ากัน สำหรับการยื่นภาษีด้วยตนเองแบบกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากร จะเปิดให้ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 ส่วนการยื่นภาษีเงินได้แบบออนไลน์ ที่ www.rd.go.th จะเปิดถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะคำนวณจากเงินได้สุทธิ ซึ่งก็คือ รายได้ทั้งหมด หักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษี แล้วนำมาคูณอัตราภาษี ตั้งแต่ได้รับการยกเว้น ไปจนถึง 35% ในลักษณะขั้นบันได
เช็กลิสต์รายการลดหย่อนภาษี 2566
กลุ่มลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัว ,ครอบครัว
- ส่วนตัว ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- คู่สมรส ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ลูกคนที่1 ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- ลูกคนที่2 เป็นต้นไป( เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561) ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์ ,คลอดบุตร ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา ลดหย่อนสูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุ 60ปีขึ้นไปและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยพี่น้องไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำซ้อนกันได้
- ค่าดูแลผู้พิการ ,ทุพพลภาพ ลดหย่อนสูงสุดไม่เกินคนละ 60,000 บาท
กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หากเป็นการกู้ร่วมต้องเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม
- เงินทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ช้อปดีมีคืน (1 ม.ค.-15ก.พ. 66) ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
กลุ่มบริจาค
- บริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
- บริจาคให้การศึกษา ,กีฬา ,สังคม ,โรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคอื่นๆมูลนิธิและองค์กรสาธารณะกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน
กลุ่มประกันและการลงทุน
- ประกันสังคม ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- ประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต หรือประกันสะสมทรัพย์ (ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตนเองลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
ทั้งนี้ การลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ,กบข. ,กองทุนสงเคราะห์ครู ลดหย่อน ได้ 15% ของเงินได้ กรณี กบข. สูงสุด 30% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ,กบข. ,กองทุนสงเคราะห์ครู , RMF , SSF รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน ThaiESG ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
อัตราการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566
- เงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,000-300,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 30%
- เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป มีอัตราภาษีอยู่ที่ 35%
ที่มา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา