กาง 2 มาตรา พ.ร.บ.วินัยการคลัง ข้อสังเกตกฤษฎีกา ปมแจกเงินดิจิทัล

08 ม.ค. 2567 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2567 | 17:13 น.
765

กางกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 มาตรา 57 หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งข้อสังเกตให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินการคลัง

หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบ มายังคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 10,000 บาท ว่าสามารถดำเนินการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ โดยเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และทางคณะกรรมการนโยบาย

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตว่าจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57ด้วย

สำหรับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตราขึ้นเพื่อให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพ และมั่นคงอย่างยั่งยืน 

โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลัง และงบประมาณของรัฐ การกําหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้ และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ 

Digital Wallet 10,000 บาท

กางกฎหมาย ตามข้อสังเกต กฤษฎีกา

มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561

ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ โดยต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561

การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงาน หรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยจะมีการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบาย คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ และหารือในที่ประชุมครม. ในวันที่ 9 ม.ค.67 นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป
 

"จุลพันธ์" ยัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" เสร็จทัน พ.ค.นี้


วันที่ 8 ม.ค. 67 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวที่อาคารรัฐสภาภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามของกระทรวงการคลังว่า ยืนยันว่าสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัย ในเรื่องของความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลได้ทั้งก่อน และหลังโครงการ

ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตามมาตรา 53 คือเรื่อง "เป็นวิกฤตหรือไม่" ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง แล้วก็เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินการให้ครบถ้วน 

กาง 2 มาตรา พ.ร.บ.วินัยการคลัง ข้อสังเกตกฤษฎีกา ปมแจกเงินดิจิทัล

ส่วนที่สองที่มีข้อเสนอแนะ คือเรื่องของการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ซึ่งก็คงจะต้องพิจารณาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และคงจะต้องมีการเชิญประชุมคณะกรรมการนโยบาย เพื่อที่จะเชิญทุกฝ่ายมา แล้วก็คงต้องรบกวนทางเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสรุปให้ที่ประชุมฟังด้วยว่า ในความเห็นนั้นๆ มีความหมายเช่นไร และควรจะดำเนินการเช่นไรต่อ

พวกเราก็ในฐานะกรรมการนโยบายหลังจากประชุมกันแล้ว ก็คงจะต้องมีมติว่าเราจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะมา เราต้องรับฟัง

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า เรายังพยายามยืนยันว่า กรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือเป้าหมายเดิมในเดือน พ.ค. ณ ขณะนี้ ยังไม่มีเหตุให้เลื่อน

เมื่อถามว่า โครงการดังกล่าวจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยกลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ นี่คือจุดมุ่งหมายของรัฐบาลนะครับ

ทั้งนี้ ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เราก็ได้แสดงความเป็นห่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นที่ค่อนข้างเร็ว และสูง ซึ่งเกิดกระทบกับพี่น้องประชาชนในวงกว้าง เมื่อมีตัวเลขในเรื่องของผลกำไรของกลุ่มธนาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นภาระที่ตกกับประชาชน แต่แน่นอนว่า กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันแบ่งแยกกัน ทั้งส่วนของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจประเด็นที่ สว.จะขอยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งตนยินดี เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง และทำความเข้าใจอยู่แล้ว