เช็คสถานะลูกหนี้เรื้อรัง พร้อมวิธีแก้ปัญหาแบบปิดจบ จากแบงก์ชาติ

01 ม.ค. 2567 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2567 | 11:46 น.
5.0 k

ตรวจสอบสถานะลูกหนี้เรื้อรัง จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้น เคลียร์หนี้ไม่หมด พร้อมวิธีแก้ปัญหา แบบปิดจบ จากแบงก์ชาติ

มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนหลายคนกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 1 มกราคม 2567 หนึ่งในนั้นคือ การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพประกอบข่าวการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง

ระดับของลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง

ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี

ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลัง 5 ปี และเป็นลูกหนี้ในลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท
  • ลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท

การประเมินลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง

ประเมินลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังเป็นรายบัญชี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยใช้ข้อมูลดอกเบี้ยและเงินต้นของแต่ละบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีเงื่อนไขการชำระคืนไม่เป็นงวดของลูกหนี้มาคำนวณจำนวนดอกเบี้ยรวมและเงินต้นรวมของแต่ละบัญชี ดังนี้

  • การประเมินงวดเดือนมิถุนายน ให้ใช้ข้อมูลนับจากวันที่ 30 มิถุนายน ของปีที่ประเมินย้อนหลัง 3 และ 4 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ general PD และย้อนหลัง 5 ปีกรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ severe PD มาคำนวณ
  • การประเมินงวดเดือนธันวาคม ให้ใช้ข้อมูลนับจากวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ประเมินย้อนหลัง 3 และ 4 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ general PD และย้อนหลัง 5 ปี กรณีที่ประเมินหาลูกหนี้ severe PD มาคำนวณ
  • หากลูกหนี้ประสงค์ที่จะตรวจสอบสถานะของตนเอง ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลสถานะของลูกหนี้ที่ประเมินในรอบล่าสุดภายใน 2 เดือนนับจากวันสิ้นงวดการประเมิน แก่ลูกหนี้ได้

ภาพประกอบข่าวการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง

การช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD)

สถาบันการเงินผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนให้ลูกหนี้แต่ละรายทราบว่าเริ่มมีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินงวดเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้าประกอบการแจ้งเตือน ทั้งนี้ ลูกหนี้แต่ละรายต้องได้รับแจ้งเตือนการเริ่มมีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อบัญชี โดยการแจ้งเตือนผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารข้อมูลสำคัญกับลูกหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมลข้อความสั้นซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile application) หรือ บัญชีทางการ LINE (LINE Official Account) พร้อมข้อมูลสำคัญของลูกหนี้แต่ละรายอย่างน้อย ดังนี้

  • จำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้ว ในช่วงที่เข้าข่ายเป็นลูกหนี้ general PD
  • ข้อความหรือการสื่อสารในลักษณะที่เป็นการกระตุกพฤติกรรมให้ลูกหนี้ประสงค์ที่จะชำระหนี้ให้ครบถ้วนเร็วขึ้น
  • ช่องทางติดต่อผู้ให้บริการในการให้คำปรึกษาการแก้ไขหนี้
  • กรณีที่ลูกหนี้แจ้งว่าไม่ประสงค์รับการแจ้งเตือนอีก ผู้ให้บริการสามารถยุติการแจ้งเตือนได้

ภาพประกอบข่าวการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง

การช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD)

สถาบันการเงินผู้ให้บริการต้องแจ้งเตือนให้ลูกหนี้แต่ละรายทราบว่าเข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนสิงหาคมโดยใช้ข้อมูลการประเมินงวดเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินงวดเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้า แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ลูกหนี้แต่ละรายต้องได้รับการแจ้งเตือนการเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อบัญชี โดยการแจ้งเตือนให้ทำผ่านช่องทางอย่างน้อย ต่อไปนี้ จดหมาย หรืออีเมล ประกอบกับ ข้อความสั้น ซึ่งส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ (SMS) หรือ ช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารข้อมูลสำคัญกับลูกหนี้ เช่น แอปพลิเคชันที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile application) หรือ บัญชีทางการ LINE (LINE Official Account) พร้อมข้อมูลสำคัญของลูกหนี้แต่ละรายอย่างน้อย ดังนี้

  • จำนวนภาระหนี้คงเหลือ เงินต้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้วทั้งสิ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนหรือชำระหนี้ขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง
  • แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา พร้อมช่องทางติดต่อผู้ให้บริการในการให้คำปรึกษาการแก้ไขหนี้
  • สำหรับช่องทางจดหมาย และอีเมล ให้ระบุเงื่อนไขคุณสมบัติของลูกหนี้ที่ต้องไม่มีสถานะเป็นลูกหนี้ที่ด้อยคุณภาพ ณ ช่วงเวลาที่สมัครเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง จนถึงการลงนามในสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และระบุนโยบายการแจ้งเตือนของผู้ให้บริการ เช่น จำนวนครั้งในการแจ้งเตือน
  • กรณีที่ลูกหนี้ไม่ยินยอมให้ติดต่อเพื่อแจ้งเตือน เป็นเหตุให้ผู้ให้บริการไม่สามารถแจ้งเตือนได้ครบถ้วนตามช่องทางที่กำหนดในข้อนี้ได้ให้ผู้ให้บริการปรับเปลี่ยนช่องทางสื่อสารให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย โดยต้องเป็นการแจ้งเตือนลูกหนี้ผ่านช่องทางสื่อสารอย่างน้อย 2 ช่องทางที่ไม่ซ้ำกัน และช่องทางใดช่องทางหนึ่งต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนตามที่กำหนด เว้นแต่กรณีผู้ให้บริการสามารถสื่อสารกับลูกหนี้ได้เพียงช่องทางเดียว
  • กรณีที่ลูกหนี้แจ้งว่าไม่ประสงค์รับการแจ้งเตือนอีกหรือไม่ประสงค์เข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ผู้ให้บริการสามารถยุติการแจ้งเตือนได้

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ severe PD รวมถึงกรณีที่ลูกหนี้เคยได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) จากผู้ให้บริการมาก่อนแล้ว แต่ภายหลังเป็นลูกหนี้ severe PD โดยลูกหนี้ดังกล่าวมีสิทธิเลือกที่จะเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective rate) ที่กำหนดตามสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี
  • ระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต้องไม่เกิน 5 ปี
  • เงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่กำหนดจะต้องสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งกรณีค่างวดที่กำหนดให้ชำระภายใต้มาตรการไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยอาจใช้ข้อมูลเดิมของลูกหนี้ที่มีอยู่ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ได้
  • สถาบันการเงินผู้ให้บริการต้องระงับวงเงินของสินเชื่อบัญชีที่เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากบัญชีที่เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง สามารถเบิกใช้ได้ทั้งรูปแบบที่มีเงื่อนไขการชำระคืนไม่เป็นงวด และรูปแบบที่มีเงื่อนไขชำระคืนเป็นงวด ผู้ให้บริการจะต้องระงับจำนวนเงินในส่วนบัญชีที่เข้ามาตรการ โดยวงเงินที่เหลือในบัญชีดังกล่าว ผู้ให้บริการอาจเลือกปิดวงเงิน หรือไม่ให้เบิกใช้ในรูปแบบการชำระคืนไม่เป็นงวดได้อีก
  • หากบัญชีที่เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังอยู่ภายใต้วงเงินรวมของสินเชื่อหลายบัญชี ผู้ให้บริการจะต้องระงับจำนวนเงินในส่วนบัญชีที่เข้ามาตรการ โดยลูกหนี้สามารถเบิกใช้วงเงินที่เหลือจากบัญชีอื่นภายใต้วงเงินนั้นได้ ซึ่งหากบัญชีอื่นนั้นมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไข severe PD ลูกหนี้ยังมีสิทธิขอเข้าร่วมมาตรการได้
  • เมื่อลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังแล้ว ผู้ให้บริการอาจพิจารณาวงเงินให้กับลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้เพียงพอและมีความจำเป็นฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ ตกงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง
  • กรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะออกจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสิทธิให้ลูกหนี้ทราบอย่างครบถ้วนก่อนออกจากมาตรการว่า บัญชีดังกล่าวของลูกหนี้จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้ามาตรการได้อีก อย่างไรก็ดี ลูกหนี้สามารถเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองได้
  • กรณีที่ผู้ให้บริการจะเปิดวงเงินใหม่ให้ลูกหนี้ที่ได้ออกจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังแล้ว หรือ กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง และได้วงเงินกลับคืนมาใหม่ ผู้ให้บริการต้องประเมินการเข้าเงื่อนไขลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ของวงเงินดังกล่าวเป็นรายบัญชี เทียบเท่าการให้สินเชื่อใหม่

ที่มา: ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)